รัฐสภา 9 ก.ย.- “วุฒิสภา” ถกงบ 68 “พิชัย” ขอรับคำแนะนำไปจัดสรรงบให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ด้าน สว.ออกโรงเตือน 8 ข้อรัฐบาลใช้งบ ชี้รายได้ต่ำกว่ารายจ่ายเสี่ยงเพดานกู้เงิน แนะต้องมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า งบฯ ปี 68 เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติของกระทรวง รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของหน่วยรับงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม และกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น
“ขอขอบคุณ สว.ที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 สำหรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ รวมทั้งความห่วงใยที่สมาชิกเสนอแนะไว้ รัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบฯ มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป” นายพิชัย กล่าว
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า คณะ กมธ.ใช้เวลาทำงานศึกษาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จำนวน 15 วัน และมีข้อสังเกตถึงรัฐบาล 8 หัวข้อ ดังนี้ หนึ่ง แนวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรเร่งทำงาน 3 เรื่อง คือ การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการเร่งรัดการลงทุนในโครงการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ การรักษาพื้นที่ทางการคลัง และปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์
นายชีวะภาพ กล่าวอีกว่า สอง ความเสี่ยงทางการคลังในการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายมาตลอด ทำให้สัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยอยู่ในระดับสูงขึ้นตามไปด้วย คณะ กมธ.จึงมีข้อสังเกตว่า การจัดทำงบประมาณสุ่มเสี่ยงต่อเพดานกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด จากการจัดเก็บรายได้ที่ได้น้อยกว่าประมาณการ ทำให้พื้นที่การคลังมีจำกัด ดังนั้น รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ประมาณการ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ
นายชีวะภาพ กล่าวต่อว่า สาม สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่ปี 62-65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นผ่านกู้เพื่อชดเชย แต่การชำระต้นเงินกู้จะทำให้ยอดลดลงไม่มาก ทำให้การรักษากรอบวินัยการเงินการคลังสุ่มเสี่ยง ดังนั้น รัฐต้องจัดงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0
นายชีวะภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สี่ ประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงหรือใกล้เคียงกับรายจ่าย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รัฐบาลจำเป็นต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้มีผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน สร้างรายได้ท่องเที่ยว เป็นต้น
“ห้า การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รัฐบาลควรหาแนวทางเพื่อลดจำนวนเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และต้องรักษากรอบวินัยการเงินการคลังให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมถึงหลีกเลี่ยงนโยบายหรือโครงการที่จะส่งผลให้ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้การจัดทำงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หก การจัดทำงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนงบประมาณกับยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำแผนงานหรือโครงการ และจัดสรรงบประมาณให้กับแผ่นแม่บท และควรกำกับติดตาม รวมถึงควรจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับคำนิยามของแผนงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” ประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าว
นายชีวะภาพ กล่าวทิ้งท้ายว่า เจ็ด เพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายและการกันเงินเหลื่อมปี ปี 68 รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ หรือเร่งรัดการบเบิกจ่าย เพื่อให้เม็ดเงินของรัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และ แปด การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเชิงพื้นที่ ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มกรอบวงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท จัดทำแผนงานพัฒนาจังหวัด ไม่ควรกำหนดรูปแบบให้เหมือนกันทุกจังหวัด แต่ควรให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนให้เหมาะสมกับทิศทางตามศักยภาพพื้นที่
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายว่า ตนคิดว่างบฯ ปี 68 เป็นการใช้งบฯ ที่ไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใส เพราะเป็นโครงการประชานิยม ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า การแจกเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล แต่การแจกเงินเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคที่มีลักษณะเฉพาะกิจ เป็นการกระตุ้นฝั่งดีมาน ซึ่งจริงๆ แล้วต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายหรือความคิดใดๆ ที่ให้ใช้เม็ดเงินน้อยลง เพื่อไปกระตุ้นฝั่งซัพพลายบ้าง คือกระตุ้นภาคการลงทุนและภาคการผลิต ซึ่งจะใช้เม็ดเงินที่น้อยกว่า ตนชื่นชมในรัฐบาลชุดที่แล้ว เขาใช้เงินจำนวนเดียวกัน แต่เขาสามารถกระตุ้นยอดเศรษฐกิจได้ถึง 2 เท่า คือ โครงการคนละครึ่ง
นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการแจกเงินนี้ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบยาก เพราะเอาโครงการนี้ไปใส่ไว้ในงบกลาง คือใช้กลยุทธ์แบบแอบๆ ซ่อนๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีเจตนาทุจริตหรือไม่ หรือไม่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตนอยากให้รัฐบาลแยกงบก้อนนี้ออกไป เหมือนกับเป็นงบเพิ่มเติมปี 67 จะดีกว่า
นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ของรัฐบาลคือการไปล้วงลับ ดัด ดึง คือไปเอางบฯ จากส่วนต่างๆ ตัดโน่นตัดนี่มา เพื่อมาใช้โครงการนี้ เพราะอยากจะได้เม็ดเงินมาก เนื่องจากผู้ลงทะเบียนกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายขอไปเป็นงบเพิ่มเติมปี 67 จำนวน 1.65 หมื่นล้านบาท เพื่อมาทำดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายวันนี้ได้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ คนใหม่ เห็นบอกว่า ไม่เอาแล้ว ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต จะแจกเป็นเงินสดแทน แบบนี้คืออะไร ขอมาอย่าง ไปทำอีกอย่าง อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ หรือมองว่าวุฒิสภาเป็นแค่ตราประทับหรือไม่ ประทับเสร็จแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ได้ใช้หรือไม่ .-312 สำนักข่าวไทย