ธรรมศาสตร์ 25 ส.ค.-นักวิชาการ สงสัย “เพื่อไทย” เตรียมรับมือปมครอบงำอย่างไร หลัง “ทักษิณ” โดดเด่นเหมือนเป็นนายกฯ ตัวจริง ให้จับจุดชี้วัดอยู่ที่ “อุ๊งอิ๊งค์” แถลงนโยบาย ซ้ำพ่อโชว์วิสัยทัศน์หรือไม่ มองตั้ง ครม.คือเกมการเมือง ระหว่าง “ทักษิณ-บิ๊กป้อม”
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่า การตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ได้ตกลงเรื่องโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีก่อน แต่เดินเกมเร็วให้โหวตเลือกนายกฯเลยหลังจาก 2 วัน ที่นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ปัญหาตอนนี้เกิดขึ้นอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และเสนอบัญชีรัฐมนตรีไป 2 บัญชี จึงอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจอย่างไรกับประเด็นของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ส่วนเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล ต่อให้พลเอกประวิตร ไม่อยู่ ก็จะมีพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเติมด้วย ดังนั้น เสียง สส.ไม่น่าจะมีปัญหา
เมื่อถามว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ หลายคนมองว่านายทักษิณ ชินวัตร เข้ามามีบทบาทและเป็นการเอาคืนของนายทักษิณ นายปริญญา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องมีอิสระในการตัดสินใจ แม้ว่าจะต้องปรึกษาคนอื่นบ้างหรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่ามันคือการตัดสินใจว่า สรุปแล้วนายทักษิณ ชินวัตร จะเลือกที่ปรองดองกับพลเอกประวิตรหรือไม่ ซึ่งหากตัดสินใจเลือกปรองดองกับพลเอกประวิตร ก็ทำให้การประกาศอิสรภาพของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเรื่องแปลก แต่หากเลือกร้อยเอกธรรมนัส ก็จะเป็นไปอีกทางหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคุณทักษิณไม่ได้เลือกทางพลเอกประวิตรแล้ว ถึงได้มีการออกมาของร้อยเอกธรรมนัส พร้อมกับ สส. 20 กว่าคน ดังนั้น จึงต้องรอดูว่า ครม.จะทูลเกล้าเมื่อไหร่”
เมื่อถามว่าบทบาทของนายทักษิณ ที่กลับมา และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็นการครอบงำทางการเมืองนั้น นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องนี้มันอยู่ใน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 29 เขียนไว้ห้ามไม่ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค มาครอบคลุม ครอบงำ สั่งการ ซึ่งสามารถถูกร้องไปถึงขั้นยุบพรรคได้ ซึ่งตนไม่ทราบว่า พรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้ไว้หรือไม่ และคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีอะไรตามมา หากบทบาทของนายทักษิณ ไปในทางที่ดูราวกับว่าเป็นนายกตัวจริง และนางสาวแพรทองธาร ไม่ทำให้เห็นว่าเป็นอิสระ ก็จะมีประเด็นเรื่องนี้เข้ามาได้ และเรื่องนี้ยังแตกต่างจากสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนั้นไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆเลยในพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมการหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบรัฐบาลยังอยู่ต่อ แต่ในยุคของนางสาวแพทองธาร กลับไปเหมือนยุคของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย ประกอบกับยุคของนายสมชาย พรป.พรรคการเมือง ไม่มีเรื่องครอบงำ แต่ตอนนี้ ในพรป.พรรคการเมืองปัจจุบัน มีเรื่องห้ามครองงำ พอมีประเด็นนี้เขามา ตนจึงไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย เตรียมการไว้อย่างไร
“เรื่องนี้ต้องรอไปดู ตอนแถลงนโยบาย ว่าสิ่งที่คุณแพทองธาร แถลงเหมือนหรือต่างกับที่นายทักษิณพูด คืนวันแสดงวิสัยทัศน์ พูดง่ายๆถ้าเกิดคุณแพทองธาร ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะสามารถพูดได้ว่าช่วยนายกฯไม่ได้ช่วยพรรค แต่พอคุณแพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มันจะแยกกันอย่างไร ซึ่งนี่ก็จะเป็นโจทย์ เพราะอาจจะมีคนที่ติดใจคุณทักษิณ ตั้งแต่เดิมหรือช่วง 6 เดือนที่ในโรงพยาบาลตำรวจก็ดี ก็อาจจะไปร้องก็ได้ ก็จะทำให้คุณทักษิณ ที่เป็นเป้าอยู่แล้วก็จะกลายเป็นเป้าเรื่องคุณแพทองธารอีก ซึ่งไม่รู้ว่าคุณทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยเตรียมการอย่างไร และเป็นข้อสังเกตจากตน บทบาทของคุณทักษิณ ที่คนเห็นในคืนวันนั้น ออกมาโดดเด่น จนกระทั่งเหมือนเป็นนายกตัวจริง ในทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องบวก ดูแล้วสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะมีนักธุรกิจแถวหน้ามาฟัง แต่ในทางการเมืองมันเป็นสิ่งที่น่าจะมีอะไรตามมา ก็ต้องรอดูกันต่อไป”
นายปริญญา ยังกล่าวว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ควรล่าช้า ครม.รักษาการไม่ควรจะทำหน้าที่แทน ครม.ตัวจริงไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีนายกฯแล้ว ควรที่จะต้องรีบ พรรคเพื่อไทยต้องรีบให้จบโดยเร็ว
เมื่อถามว่า ครม.จำเป็นต้องมีพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า คงต้องไปถามพรรคเพื่อไทย เพราะเสียงตอนนี้ เกิน 300 เสียง มันมั่นคงและเพียงพอ ความจริงก็ไม่จำเป็นต้องมี แต่อาจจะเป็นการเมืองที่ต้องการทอนกำลังฝ่ายค้านให้น้อยลง เพราะฝ่ายค้านยิ่งน้อย รัฐบาลยิ่งเข้มแข็ง และหากมองในการเลือกตั้งภายหน้า คู่แข่งยิ่งมีปัญหาแตกแยกภายใน ก็จะยิ่งเป็นผลดีในทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย.-319.-สำนักข่าวไทย