รัฐสภา 1 ส.ค.- ประชุมอนุฯ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ องค์กรกฎหมายส่งตัวแทนร่วมหารือ ไร้ชื่อ “วิษณุ เครืองาม” เตรียมถกมูลค่าเสียหาย คาดรวมทั้งหมดกว่าหมื่นล้าน จ่อเชิญ “ซีพีเอฟ” รอบ 3 หลังเห็นแววดี แถลงจะร่วมมือกับภาครัฐ ด้าน “ณัฐชา” ชี้ 7 มาตรการไม่ตอบโจทย์ เพราะสังคมทำอยู่แล้ว ยัน ไม่ฟอกขาวใคร หมดหน้าที่อนุฯ ต้องมีคนติดคุก ลั่น ขอตามหา คกก.ตามหาความจริง ก.เกษตร หลังครบ 7 วัน ที่สัญญาไว้กับประชาชน
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ แถลงก่อนการประชุมในวันนี้ ว่า ได้มีการเชิญสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงทรัพย์ฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อที่จะหารือเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดจากปัญหาปลาหมอคางดำระบาด โดยทั้ง 3 หน่วยมาส่งตัวแทนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินการเอาผิดได้ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วม
นายณัฐชา กล่าวว่า สิ่งที่เห็นวันนี้ ต้องเดินหน้าเอาติดกับต้นตอสาเหตุให้ได้ ซึ่งวันนี้จะได้ข้อสรุปข้อกฎหมายทั้งหมด ที่คณะอนุกรรมการฯ จะส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ว่ากรมประมง กระทรวเกษตรฯ กระทรวงทรัพย์ฯ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนการประเมินค่าเสียหายมีตัวอย่างชัดเจนแค่ตำบลเดียว คาดว่าประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี แต่วันนี้ระบาดไป 17 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ประเมิน ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีมูลค่าเสียหายต่างกันไป หากรวมแล้วอาจจะถึงหมื่นล้านบาท
นายณัฐชา ยังกล่างถึง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จะฟ้องสื่อมวลชนและมูลนิธิที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล โดนแย้งว่าพื้นที่ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงได้ดีที่สุดคือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนได้เน้นย้ำไปแล้วว่าทุกปัญหาของสังคม ออกมาจากการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ หากต้องการโต้แย้ง หรือทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ก็ควรที่จะมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ขณะที่หน่วยงานรัฐ ยินดีที่จะเปรียบเทียบข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งจะคลายข้อสงสัยให้ประชาชนได้
ขณะที่การแถลงข่าวทุกครั้ง บริษัทฯ กล่าวว่าายินดีจะให้ข้อมูลกับภาครัฐ ซึ่งเราขอความร่วมมือไปแล้ว 2 ครั้ง ความยินดียังไม่ได้ ดังนั้นถ้ายินดีสนับสนุนกับหน่วยงานรัฐ เราเห็นข่าวแล้วยินดีที่จะเชิญมาเป็นครั้งที่ 3 อย่างไรก็ตามตนขอปรึกษากับประธานคณะอนุกรรมาธิการฯก่อน
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า วันนี้หลายมีฝ่ายลงพื้นที่ รวมถึงภาครัฐที่ลงพื้นที่หนักมาก วันนี้ก็ที่แสมดำ เขตบางขุนเทียน แต่นอกเหนือจากการลงพื้นที่ ประชาชนยังรอ 7 มาตรการของรัฐ ที่ใช้งบ 450 ล้านบาท ในการแก้ปัญหา ซึ่งตนเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะ 7 มาตราการที่ออกมาสังคมทำอยู่แล้ว ทั้งการจับ ล่า แปรรูป แต่สิ่งที่เขารอคอยคือสาเหตุ สิ่งนี้ไม่ได้ยินจากฝ่ายบริหารเลย รวมถึงยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกร ที่ล้มหายตายจากในรายวัน
นายณัฐชา ยืนยันว่า คณะอนุกรรมการฯ เอาจริงกับการแก้ปัญหา ไม่ใช่การฟอกขาวให้กับเอกชน วันนี้เราต้องการทำข้อสงสัยของสังคม เมื่อเข้าใจไม่ตรงกัน จะเกิดปัญหากระทบกระทั่ง สิ่งเดียวที่ทำได้คือให้ความจริงปรากฏ ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ถ้าความจริงปรากฎเราจะรู้ว่าใครคือต้นตอ และจะบรรเทาอาการโกรธแค้นของเกษตรกรที่อยู่ในภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำงานของคณะอนุกรรมธิการสิ้นสุดลง จะต้องมีผู้ที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งกระทรวงทรัพย์ ที่รับผิดชอบเรื่องระบบนิเวศน์ กระทรวงเกษตรกร ที่มีลูกค้าเป็นเกษตรกร กระทรวงมหาดไทย ที่ดูเรื่อง ปภ. ที่ยังไม่มีการบรรเทาภัยให้ประชาชน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งหัวโต๊ะ แก้ไขปัญหา อย่าให้มีการครหาเหมือนกับหมูเถื่อน ที่นายกฯ แอคชั่น ตอนแรกแบบนี้ ซึ่งย้ำว่าจะไม่ให้ปลาเถื่อนจบแบบหมูเถื่อนแน่นอน
นายณัฐชา ถามถึงคณะทำงานตามหาความจริง ใน 7 วันที่ถูกตั้งที่โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นั้น วันนี้ผ่านมา 7 วัน ตนขอตามหาคณะกรรมการตามหาความจริงให้เจอก่อน แล้วความจริงจะปรากฏ ซึ่งตนขอให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีความจริงปรากฏ จะทำให้ประชาชนเห็นได้ว่าความจริงใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร .314.-สำนักข่าวไทย