รัฐสภา 11 ก.ค.- ภาคประชาชน ร้อง กมธ.ที่ดินค้านมติ ครม. เพิกถอนสิทธิที่ดินทับลาน ด้าน “พูนศักดิ์” เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าแจง 17 ก.ค.นี้ “ปธ.มูลนิธิสืบฯ” ชี้ ไม่ควรเหมาเข่งเพิกถอนพื้นที่ทั้งหมด
นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือต่อนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติในปี 2560 เห็นชอบ ให้แนวทาง ของสำนักงานนโยบายที่ดินแห่งชาติในการบริหารจัดการพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ โดยจะมีลักษณะของการเพิกถอนพื้นที่เดิมที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อเมื่อปี 2524 ออกไป 265,000 ไร่ โดยมีข้อกังวล 3 ประเด็นหลัก คือกลไกในการแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ผ่านมา ดำเนินการโดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยใช้กฎหมายของอุทยานแห่งชาติในการดำเนินการอย่างถูกต้องและมีกระบวนการในการแก้ปัญหาชัดเจนแต่ในรัฐบาลที่ผ่านมามีความพยายามจะนำประเด็นดังกล่าวไปให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นผู้ดำเนินการและใช้ กลไกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 66 พิจารณาแนวทางการเพิกถอนพื้นที่บริเวณแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ จึงเห็นว่ากลไกที่ใช้ในการพิจารณา การดำเนินการในพื้นที่ไม่น่าจะเป็นกลไกที่ถูกต้องหรือเป็นกลไกตามปกติจึงอยากให้กรรมาธิการช่วยตรวจสอบในประเด็นนี้
ประเด็นที่สองคือ พื้นที่จำนวน 265,000 ไร่ จากข้อมูลในพื้นที่พบว่ามีประชากรที่มีความหลากหลายจากสภาพปัญหาปัญหาไม่ควรเหมาเข่งในการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการเพิกถอนในลักษณะเดียวทั้งพื้นที่ เนื่องจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ พื้นที่อนุรักษ์รวมถึงมีความขัดแย้งกันมายาวนานควรที่จะได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก ส่วนกลุ่มที่สอง ที่อยู่มาไม่เกินปี 2567 ก็มีการผ่อนปรนให้อยู่ในพื้นที่ได้ แต่กลุ่มที่สามซึ่งมีพื้นพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่อยู่อยู่ระหว่างการติดตาม ดำเนินคดีและตรวจสอบหลายแปลงอยู่ระหว่างคำพิพากษาของศาล ดังนั้นถ้าเหมาเข่งกลุ่มประเด็นปัญหาทั้งสามพื้นที่มารวมกัน และเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจะเป็นการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดในพื้นที่ทำให้กระบวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบ
“พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ การจะมีกิจกรรมในพื้นที่โดยเฉพาะการเพิกถอนพื้นที่จะเกิดผลกระทบกับพื้นป่าสัตว์ป่าและคุณค่าความสำคัญของการเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกก็มีความห่วงใยในประเด็นนี้ ซึ่งหากกลไกการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ที่ไม่น่าจะชอบธรรม คิดว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและก่อให้เกิดผลกระทบต่อ พื้นที่พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆทั่วประเทศต่อไป จึงอยากให้ติดตามตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว
นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากได้มีการสำรวจแล้ว ว่าผู้ครอบครองทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ ได้สำรวจรังวัดเรียบร้อยแล้ว และได้เยียวยา ตามมาตรา 64 ตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าหากมีการออกโฉนดจะมีการขายกับกลุ่มทุนและบุกรุกป่าต่อเนื่อง ดังนั้นเห็นว่าในอนาคตอาจจะออกกฏหมายดูรูปแบบการบริหารจัดการภาคเกษตรภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีช่องทางที่เดินไปด้วยกันได้ แล้วต้องพิสูจน์สิทธิ์ให้ได้ว่าใครเป็นผู้ยากจนจริง ซึ่งทั้งหมดต้องแบ่งกลุ่ม อย่าเหมาเข่ง
“ไม่เช่นนั้นแล้วหากได้โฉนดแล้วก็จะเปลี่ยนมืออีก ซึ่งกรมป่าไม้และกรมอุทยาน ที่รับผิดชอบ เรามีบทเรียนอย่างนี้มาเยอะมาก เขาก็จะบุกที่ใหม่อีก” นายพสิษฐ์ กล่าว
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีการเชิญหน่วนงานเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลกับกมธ. อาทิ สคทช. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งก็หวังว่าจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อจำได้ข้อสรุปให้ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการต่อไป
ขณะที่ นายเลาฟั้ง บัณทิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวเสริมว่า กรณีนี้มีทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้ #Saveทับลาน และประชาชนในพื้นที่ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงเส้นแนวเขตนี้ กมธ. จึงจะรับมาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกันกับทางข้อเรียกร้องของทางภาคประชาชนที่ว่า ‘จะต้องไม่เหมาเข่ง’
นายเลาฟั้ง กล่าวต่อว่า จะต้องมีการสแกน ในส่วนที่เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ซึ่งเขาควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมายที่มีอยู่ ในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่มาก่อนก็ควรจะได้รับการออกเอกสารสิทธิ์ ส่วนกลุ่มที่มาอยู่ที่หลังแต่ก่อนปี 2557 ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล ก็ควรเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล
นายเลาฟั้ง กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการคุ้มครองพื้นที่มีการบุกรุก ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งรวมไปถึงการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ กลุ่มนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบ การออกเอกสารสิทธิ์ หรือสิทธิการครอบครอง ที่แม้อาจจะมีการเปลี่ยนมือ แต่ก็จะต้องเป็นการใช้เพื่อการเกษตร หากถือครองผิดเงื่อนไข จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ยึดคืนมาเป็นของรัฐ อีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การมีข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจในการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่กลุ่มนายทุนโดยไม่ชอบ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นเดียวกัน
นายเล่าฟั้ง ย้ำว่า หากไม่ทำเช่นนี้จะสาวไม่ถึงต้นตอของปัญหา แล้วผลกระทบก็จะตกมาถึงประชาชน เรื่องนี้มีทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้น กมธ.จะรับมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ นำข้อมูลจากทุกฝ่ายมารับฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด.-315 -สำนักข่าวไทย