โรงแรมอัศวินฯ 1 ก.ค.-ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับการรายงานข่าวของสื่อ มีผลต่อการตัดสินใจของตุลาการศาลฯ ชี้บางเรื่องพูดได้ พูดไม่ได้ เพราะศาลเป็นองค์กรที่ต้องรักษาความลับ คาบเกี่ยวความมั่นคงประเทศ แจงเหตุ 18 มิ.ย. พิจารณา 3 คดีสำคัญทางการเมือง ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ตุลาการบางท่านไม่ว่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญจัดโครงการ “ศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชนประจำปี 2567” การเสวนาเรื่อง : สื่อสาร (ศาล) รัฐธรรมนูญสู่ประชาชน โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัล” โดยยอมรับว่าการรายงานสถานการณ์ทางการเมืองของสื่อในปัจจุบัน ส่งผลต่อการตัดสินใจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มากน้อยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคล ซึ่งปัจจุบันเป็นสังคมแห่งเสรีภาพ สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว จึงขอแบ่งสื่อออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสื่อที่มีเจ้าของ โดยอาจไม่ใช่องค์กร หน่วยงาน เพราะทุกคนมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตัวเอง ทั้งที่ตามหลักแล้วควรจะเป็นองค์กร ที่เป็นเจ้าของสื่อ แต่หน่วยงานเหล่านี้ ปรับตัวได้ยาก ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลเท่าที่ควรให้สังคมเข้าใจได้เท่าที่ควรจะเป็น เพราะบางอย่างพูดได้ บางอย่างพูดไม่ได้
นายนครินทร์ เล่าเหตุการณ์การประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดวันพิจารณาสำคัญทางการเมือง 3 คดี ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งอาจจะผิดแปลกไปจากปกติที่จะมีการประชุมกันในวันพุธ เนื่องจากตุลาการบางท่านติดภารกิจ ไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อน ตุลาการท่านหนึ่งจึงได้มีการเสนอ ว่าจะต้องชี้แจงเหตุผลกับสื่อมวลชนหรือไม่ แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และหน้าที่นี้ ควรจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ติดปัญหากับ เจ้าหน้าที่ว่าเรื่องใดควรพูดหรือเรื่องใดไม่ควรพูด
นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกว่าจ้าง จะมีการนำเสนอข่าวแตกต่าง ไปจากข่าวปกติ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มาจากความไว้วางใจ ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มสื่อที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด หากมีการนำเสนอข่าวขององค์กรโดยที่ไม่มีการว่าจ้าง ถือเป็นสิ่งที่น่าพึงประสงค์ จึงอยากชวนคิดว่า ในยุคดิจิทัล การรายงานข่าวของสื่ออาจจะทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขึ้นในสังคม จะสามารถควบคุมกันเองได้อย่างไร อาจจะเป็นในลักษณะการตักเตือนกันเอง หรือผู้สื่อข่าวอาวุโสตักเตือนรุ่นน้อง ไม่ควรปล่อยปละละเลยจนเกินไป ดังนั้นเรื่องของจรรยาบรรณ เป็นของปัจเจกบุคคลธรรมดา ว่าเรื่องแบบนี้ควรพูด ไม่ควรพูด ทุกเรื่องต้องคำนึงถึงความพอเหมาะ พอดี พอควร อย่าสุดโต่ง อยู่ในจุดสมดุล ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทุกเรื่อง บางเรื่องจำเป็นต้องเป็นความลับ อย่างเช่นศาล เป็นองค์กรที่ต้องอยู่กับความลับ เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความปลอดภัยทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติ ที่ต้องอยู่ในความพอเหมาะพอดี
“ศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้จริงๆ ศาลจะเปิดเผยทุกอย่างไม่ได้ ต้องอยู่บนความพอเหมาะพอควร อย่าสุดโต่ง ระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้กับความลับที่จะมีผลต่อความเสียหาย และความมั่นคงของประเทศ ” นายนครินทร์กล่าว.-319.-สำนักข่าวไทย