รัฐสภา 21 มิ.ย.- “รักชนก” เสนอ 4 กระบวนท่า สู่การปฏิรูปงบประมาณ เปลี่ยนอำนาจการจัดสรรงบประมาณ จาก “สำนักงบฯ เป็นกระทรวง – ทำงบประมาณแบบเน้นผลลัพธ์” ชี้ ต่อให้ปฏิรูปงบฯ แต่ประเทศยังเหมือนเดิม อาจเกิดจากปัญหาของนโยบาย และวิธีการของรัฐบาล
น.ส.รักชนก ศรีนอก สส. พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า ปัจจุบันกระบวนการงบประมาณจะเริ่มด้วยการทำยุทธศาสตร์การจัดสรรในช่วงสิ้นปี และตอนต้นปีนายกรัฐมนตรีก็จะมาแถลงยุทธศาสตร์การจัดสรร ที่จะบอกว่าปีนี้จะจัดทำนโยบายอะไรบ้างแก่ข้าราชการ ซึ่งตนได้อ่านยุทธศาสตร์การจัดสรรและฟังนายกฯ แถลงตั้งแต่ต้นจนจบ ก็เกือบเคลิ้มเพราะนโยบายของรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลมีหลายนโยบายที่ตรงกัน แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึก ”เอ๊ะ“ ผลลัพธ์ที่นายกฯ หรือรัฐบาลนี้ต้องการนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะอยากเป็นศูนย์กลาง ทั้ง 8 ด้าน และอยากเพิ่มรายได้เกษตรกรสามเท่าใน 4 ปี รวมทั้งอยากให้จีดีพีโตเฉลี่ย 5%
แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ท่านอาจจะลืมไปในการแถลงทุกๆ ต้นปี คือ ไม่มีการตั้งกรอบเป้าหมายความสำเร็จว่าในแต่ละนโยบายจะอยากให้สำเร็จเท่าไหร่ และไม่ได้มาพร้อมกับกรอบงบประมาณ ซึ่งกรอบและเป้าหมายของงบประมาณมีความสำคัญมาก ถ้าไม่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็จะทำให้ไม่ทราบว่าทำไปแล้วเท่าไหร่ หรือการแก้ไขปัญหาที่ดิน หากไม่กำหนดเป้าหมายว่าจะทำในปีนี้ได้กี่แปลง ในกรอบงบประมาณเท่าไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะมีงบประมาณที่พิสูจน์สิทธิ์ให้ประชาชนปีละ 3,000 แปลงเท่านั้นทุกปี
น.ส.รักชนก กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นฝ่ายข้าราชการก็ต้องกลับมาทำคำของบประมาณ ที่กระบวนการของบ้านเราแบบ Bottom Up แต่ไม่ใช่ประเทศเราจริงๆ เพราะหัวใจหลักที่สำคัญคือต้องฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในภูมิภาคต่างๆ หรือท้องถิ่นว่า อยากเห็นโครงการอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่และนำโครงการเหล่านั้นมาทำเพื่อเป็นคำของบประมาณ แต่กระบวนการทุกวันนี้ การที่ข้าราชการฟังนายกฯ แถลงนโยบายแต่ไม่มีกรอบหรือเป้าหมาย และกลับมานั่งเขียนคำของบประมาณ และทำให้คำของบประมาณในประเทศไทยพุ่งสูง โดยในปี 67 พุ่งสูง 5.5 ล้านล้านบาท และปี 68 คำของบประมาณก็ล้นถึง 6.6 ล้านล้านบาท ทั้งๆ ที่งบประมาณประเทศมีแค่ 3.7 ล้านล้านบาท
วัฒนธรรมคำของบประมาณประเทศเรา หน่วยงานไม่รู้กรอบก็ทำคำของบประมาณให้เยอะไว้ก่อนเพราะกลัวโดนสำนักงบประมาณตัด กระบวนการปัจจุบันหน่วยงานราชการหรือผู้รับงบต่างๆ ในกระทรวง เป็นผู้รับมอบหมายให้ทำตามนโยบายรัฐบาล แต่กลับเป็นเพียงผู้เขียนคำของบประมาณเข้ามาเท่านั้น เพราะผู้ที่มีโอกาสในการจัดเรียงความสำคัญของแต่ละโครงการจริงๆ คือสำนักงบประมาณ ที่เป็นคนกำหนดทิศทางของประเทศนี้ผ่านการจัดสรรงบประมาณ และกำหนดว่ากระทรวงไหนจะได้ทำโครงการอะไรด้วยงบประมาณเท่าไหร่ และจังหวัดไหนจะมีโอกาสได้เจริญ ได้พัฒนาด้วยงบประมาณเท่าไหร่
นส.รักชนก กล่าวอีกว่า เมื่อปัญหาการจัดสรรงบประมาณอยู่ที่สำนักงบ ทั้งการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ชัดเจน และการจัดทำไฟล์สำนักงบที่ขอให้ทำเป็นไฟล์ Excel เพื่อให้ สส. และประชาชนได้วิเคราะห์งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่วาระ 1 จะเข้า แต่สำนักงบกลับไม่มีปัญญาที่จะทำไฟล์ Excel ให้กับสภาฯ และประชาชนได้พิจารณาเลย และให้ไฟล์ Excel มาแต่ก็ใช้ไม่ได้ทำแบบขอไปที ทำงานแบบนี้ไม่รู้กี่ปีแต่กลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย และประชาชนก็ไม่รู้ว่าสำนักงบเป็นคนจัดงบสรรประมาณ
อีกทั้งการวัดผล Self Report ตลอดทั้งกระบวนการก็ไม่มีการวัดความคุ้มค่าอย่างเป็นรูปธรรมหรือมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานราชการต้องเป็นตัวชี้วัดเอง ประเมินผลตัวเอง รายงานผลตัวเอง และให้ตัวเองผ่านการชี้วัด ซึ่งประเทศไทยกี่ปีผ่านไปก็ได้ผลแบบนี้เพราะเกิดจากการวัดผลด้วยตัวเอง กระบวนการจัดสรรแบบนี้และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นแล้วว่ามันไม่เวิร์ค และไม่พาประเทศไทยไปไหน แต่ก็ไม่มีใครคิดจะเข้ามาปฏิรูปกระบวนการงบประมาณอย่างจริงจัง
น.ส.รักชนก กล่าวต่อว่า วันนี้ตน จึงขอเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลในการมาบอกเล่าถึงกระบวนการจัดสรรงบประมาณเพื่ออนาคต โดยเสนอ 4 กระบวนท่าสู่การปฏิรูปงบประมาณ คือ ตั้งเป้าหมายและกรอบงบประมาณในการทำยุทธศาสตร์จัดสรร, เปลี่ยนอำนาจการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณให้เป็นกระทรวงจัดเอง, การจัดซื้อจัดจ้างอย่างมียุทธศาสตร์ และ ทำงบประมาณแบบเน้นผลลัพธ์วัดผลเพื่อไปข้างหน้า
น.ส.รักชนก กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่ตนเรียนรู้จากการทำงานกับหน่วยงานราชการราชการต่างๆ และรับข้อแนะนำ รวมถึงปัญหามาตลอดหนึ่งปีจึงรวบรวมมานำเสนอให้รัฐบาลได้นำไปปรับปรุง และอยากเห็นระบบงบประมาณที่ใช้งบประมาณจากประชาชนที่มาจากภาษีของประชาชนได้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ และมีประสิทธิภาพ พร้อมฝากไปถึงรัฐบาลว่าต่อให้ปฏิรูปงบประมาณทั้งหมดแล้วหรือแก้ไขทุกช่องโหว่ที่มีอยู่ในงบประมาณ แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนยังเหมือนเดิม ศักยภาพของประเทศก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เหมือนเดิม ปัญหาก็อาจจะไม่ได้อยู่ที่งบประมาณแล้ว แต่อาจจะเป็นที่รายละเอียดของนโยบายของท่าน และวิธีของรัฐบาลท่านเอง .- 317 -สำนักข่าวไทย