รัฐสภา 20 มิ.ย. – “ชยพล” แนะกลาโหมกล้าหาญ สร้างอาวุธสัญชาติไทย เสนอปรับโครงสร้างกองทัพไทยไปควบรวมสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม คงงบบุคลากร จะทำให้มีงบเหลือกว่า 7,600 ล้านบาท เพื่อนำไปทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
นายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหม ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า ประเทศไทยพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศเยอะ ในลักษณะซื้อมาใช้ไป ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศต้นทาง ทั้งอะไหล่ การซ่อมหรืออัปเกรดอาวุธ หากถูกตัดความสัมพันธ์ก็จะทำให้กองทัพไทยอ่อนแอลง
นายชยพล เสนอให้กองทัพกล้าหาญ ตั้งเป้าหมายพัฒนาในด้านที่ขาดอยู่ ใช้กลไกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยเริ่มสร้างอาวุธสัญชาติไทยให้เกิดขึ้นจริง ยกระดับคุณภาพอาวุธสัญชาติไทย และการส่งออกอาวุธให้กับประเทศอื่นๆ โดยเปลี่ยนจากการซื้ออาวุธมาแล้วใช้ไป เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
การจัดงบประมาณเน้นการลงทุนและพัฒนาร่วมกับเอกชน และเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนาอาวุธ เพื่ออุดช่องโหว่ ลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แต่พิจารณาจากการจัดสรรงบประมาณปี 2568 พบว่า งบที่ใช้สำหรับการซ่อมและพัฒนา อยู่ที่ร้อยละ 11 โดยงบการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ร้อยละ 0.37 ซึ่งเป็นส่วนที่น้อยจนน่าตกใจ
โดยกล่าวถึงอนาคตกลาโหมของประเทศไทย อ้างอิงจากอดีตที่ผ่านมาที่ไทยมีอุตสาหกรรมที่สามารถทำเองได้ เช่น การผลิตยาที่กองทัพมีโรงงานเภสัชกรรมทหาร แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินกิจการด้วยเงินทุนของตัวเองได้ เพราะมีกำไรเพียง 7.7 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ไทยทำได้ในบางส่วนที่ทำมาสักระยะแล้ว คือ ปืนไรเฟิลที่ไทยสามารถผลิตได้เอง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยยังไม่มี หรือเป็นเทคโนโลยีที่ไทยยังไม่สามารถทำเองได้ แต่หากมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะไม่ตกขบวนรถไฟแห่งการแข่งขัน คือความมั่นคงด้านอวกาศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการไปรบบนดวงจันทร์ แต่หมายถึงความมั่นคงตั้งแต่พื้นขึ้นไป
“รูปแบบการรบแห่งอนาคต ทุกอย่างขึ้นกับการโจมตีระยะไกล หากลองดูเทรนด์การพัฒนาอาวุธตอนนี้ ซึ่งเป็นตัวตัดสินสำคัญ คือเรื่องโจมตีระยะไกลกว่าที่ตามองเห็น หรือการตรวจจับเป้าหมายที่เร็วกว่า ไกลกว่าข้าศึก เห็นได้จากอาวุธเจนเนอเรชันถัดไป ที่มีระยะหวังผลมากขึ้น ระยะการตรวจจับที่ไกลขึ้น และการรวมตำแหน่งข้าศึก สิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งของอาวุธยุคนี้ เช่น เครื่องบินเอฟ-35 เพราะฉะนั้น การหาข่าว การสอดแนม หรือการหาเป้าหมายระยะไกล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ” นายชยพล กล่าว
นายชยพล กล่าวต่อว่า ดาวเทียมเป็นเป้าหมายหนึ่งของการโจมตี ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีระบบป้องกันดาวเทียม มีเพียงความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร แจ้งเตือนว่าดาวเทียมดวงไหนเข้าใกล้เครือข่ายดาวเทียมชาติพันธมิตร และไม่มีเรดาร์ภาคพื้น หรือเรดาร์ระดับดาวเทียมวงโคจรต่ำ
แนะให้รัฐบาลสนับสนุนการผลิตปืนไรเฟิลและจรวดหลายลำกล้อง โดยการหาตลาดรองรับ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม หรือการใช้ความต้องการยุทโธปกรณ์ของกองทัพ เพื่อให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีโอกาสได้เติบโต ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมหลายด้าน ไม่ต้องทำงบประมาณเพิ่ม เพียงแต่ปรับนโยบาย และจัดสรรงบให้เหมาะสม หรือรวมหน่วยงานอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
“งบประมาณของกระทรวงกลาโหม มีหลายส่วนเกินความจำเป็น เช่น หนึ่งก้อนใหญ่ที่สามารถปรับให้กระชับขึ้นได้ งบของกองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยงานนี้มีงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณบุคลากร 7,500 ล้านบาท และด้านอื่นอีก 7,600 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานนี้มีภารกิจรูปแบบการดำเนินงานคล้ายกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ต่างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ถึงขั้นต้องตั้งเป็นหน่วยงานแยกรับงบประมาณ เสนอให้คงงบประมาณด้านบุคลากร ปรับโครงสร้างใหม่ นำภารกิจที่มีของกองทัพไทยไปรวมกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และจะเหลืองบประมาณให้ใช้กับโครงการอื่นอีก 7,600 ล้านบาท/ปี” นายชยพล กล่าว.-317-สำนักข่าวไทย