ทำเนียบ 11 มิ.ย.- นายกฯ มอบหมาย ก.ทรัพยฯ-วธ. เร่งผลักดัน จ.น่าน เป็นเมืองมรดกโลก สั่งการ ก.คมนาคม ปรับปรุงเส้นทาง ยกระดับสนามบินอินเตอร์ รับท่องเที่ยว พร้อมกำชับ ก.อุตสาหกรรม จัดการปมสารเคมีรั่วไหล ประสาน ตร.ออกบทลงโทษโรงงานที่ทำผิดตามกฎหมาย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีข้อสั่งการขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม เร่งดำเนินการผลักดันจังหวัดน่านให้เป็นเมืองมรดกโลก และให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายสนามบิน ซึ่งทราบกันดีจังหวัดน่านเป็นเมืองคู่แฝดหลวงพระบาง และหลวงพระบางได้รับการยกระดับให้เป็นมรดกโลกแล้ว หากจังหวัดน่านได้รับการยกระดับให้เป็นมรดกโลก เวลาชาวต่างชาติเดินทางมาหลวงพระบางจะได้มาจังหวัดน่านด้วย เป็นการเดินทางข้ามประเทศ ฉะนั้นการยกระดับสนามบินให้เป็นสนามบินอินเตอร์ก็มีส่วนจะต้องติดไฟด้วย ซึ่งเราทราบกันดีว่าสนามบินน่านไม่มีไฟ
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ได้สั่งการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งบูรณาการเรื่องของ One Map ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่วางไว้ในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันแนวเขตประเทศไทยมีความไม่ชัดเจน ทำให้การนำไปใช้งานในราชการต่างๆไม่เกิดมาตรฐานและความชัดเจน และตรงนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าในการประชุมครั้งที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งบูรณาการปรับผังเมืองโซนนิ่งอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดในการดำเนินการปรับแผนดังกล่าวรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วผังเมืองหลายจังหวัดมีความล้าสมัย ดังนั้นการที่รัฐบาลมีนโยบายยกระดับการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและให้มีการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเข้ามา ฉะนั้นพวกผังสีต่างๆจะต้องมีการเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งรัดติดตามสารเคมีรั่วไหลในหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้รับการจัดการ และยังไม่มีมาตรฐานการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสังคมโดยรวม รวมถึงการทำลายกากสารเคมีและกระบวนการเคลื่อนย้ายไปตามมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อให้คนในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการประสานงานกับกรมตำรวจหาบทลงโทษกับโรงงานผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจน .-316 -สำนักข่าวไทย