รัฐสภา 5 มิ.ย.-“ยุทธพร” ไม่มั่นใจตั้ง “วิษณุ” เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ จะเป็นผลบวกต่อคดี “เศรษฐา” หรือไม่ ชี้จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองขึ้นอยู่กับศาล รธน.วินิจฉัย
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่หลายคดีรุมเร้ารัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะคดี ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคดีของนายทักษิณ ชินวัตร จะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วสลับข้าง หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องลงถนนหรือไม่ว่า ตัวชี้วัดหรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่คดีของนายกรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่าออกมาในรูปแบบไหน ถ้าออกมาในลักษณะที่นายเศรษฐาได้ไปต่อ เรื่องนี้ก็คงจะบรรเทาเบาบางสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้กับรัฐบาลได้พอสมควร แต่ถ้าออกมาในลักษณะที่นายเศรษฐาไม่ได้ไปต่อ สิ่งที่จะเกิดผลกระทบอันดับแรกคือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะนำมาสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งแคนดิเดตก็เหลือเพียงไม่กี่คน โอกาสที่จะเกิดการสลับขั้วพลิกขั้ว ย้ายข้าง ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมดและนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองก็ได้
ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของนายทักษิณ หรือเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่จะส่งผลในระยะสั้นมากนัก
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองามเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะทำให้มีโอกาสรอดคดี หรือมีปาฏิหาริย์ทางการเมืองได้หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การที่นายวิษณุเข้ามา เรื่องความรู้ความสามารถทางกฎหมายไม่มีใครตั้งข้อสงสัยอยู่แล้ว แต่หลายคนคงตั้งคำถามว่า สิ่งที่นายวิษณุมีมากกว่านักกฏหมายคนอื่นนั้นคืออะไรหลายคนบอกว่าคือปาฏิหาริย์กฎหมาย หรือการรู้จักมักคุ้นผู้คนมากมาย เพราะนายวิษณุอยู่ในรัฐบาลมากว่า 10 รัฐบาล ถ้าท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นผลบวกหรือลบ ต่อคดีของนายเศรษฐานั้น ตนไม่มั่นใจว่าจะเป็นผลบวกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็เกิดได้ทุกรูปแบบเช่นเดียวกัน
นายยุทธพร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า มีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว ได้ยกร่างทั้งหมด 7 ประเด็นเพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ อีก 10% คือการปรับแก้ตามมติของกรรมการชุดใหญ่ที่มีข้อเสนอแนะ ซึ่งการปรับแก้เป็นเรื่องนิยามของแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อที่จะให้ตรงกัน และเพิ่มเติมเรื่องของมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ และ แนวทางการสร้างความปรองดอง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการนิรโทษกรรม พร้อมย้ำว่า เจตจำนงค์ของการนิรโทษกรรมคือการสร้างสังคมที่มีความปรองดอง โดยการพิจารณาของอนุกรรมาธิการวันนี้ จะนำเสนอคณะกรรมธิการชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (6 มิ.ย.) ซึ่งถ้าไม่มีข้อเสนอแนะใดเพิ่มเติม ก็ถือว่าสิ้นสุดการทำงานของอนุกรรมาธิการ และนำไปสู่การทำรายงานเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นายยุทธพร กล่าวว่า การทำงานในอนุกรรมาธิการไม่มีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด แต่มองว่าอุปสรรคอยู่ที่นอกห้องประชุมมากกว่า เช่นกระบวนการบิดเบือนนำข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งทางกรรมาธิการต้องชี้แจง ทำความเข้าใจและเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆในการทำงานให้สังคมได้รับทราบมากที่สุด ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหานอกห้องประชุม หนึ่งในนั้น คือ ประเด็นมาตรา 112 ท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งขั้วและมีความเห็นต่างในทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีมุมมองหรือข้อเสนอวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างกันไปแต่ทั้งหมดก็ต้องดูข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งทางกรรมาธิการยืนยันว่าไม่ได้ถอดมาตรา 112 ในการพิจารณาออก และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
จากนั้น ก็มีคำถามตามมาอีกว่า เมื่อไม่ถอดมาตรา 112 เป็นเพราะจะเป็นการช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่า กรรมาธิการไม่มีการช่วยเหลือบุคคลใดเป็นพิเศษ ซึ่งการทำงานยึดหลักการเป็นที่ตั้ง และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ไปจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะกินระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี
นายยุทธพร กล่าวว่า การออกกฏหมายนิรโทษกรรม จะไม่มีผลต่อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งการทำงานของคณะกรรมธิการมีมาก่อนการที่ศาลสั่งฟ้องนายทักษิณ
นายยุทธพร กล่าวว่า ผลสำเร็จในงานครั้งนี้ คือการมีข้อเสนอสำหรับการที่จะนำไปสู่การพิจารณาในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ว่าเราจะได้กฎหมาย นิรโทษกรรมหรือไม่ตรงนั้นไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่ได้คือข้อเสนอที่วันนี้มีการรวบรวมข้อมูล ซึ่งไม่เคยมีการรวบรวมมาก่อน และข้อเสนอเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปข้างหน้า แม้ กฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่สำเร็จ ก็สามารถที่จะนำข้อเสนอเหล่านี้มาพิจารณาได้อีกครั้ง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับสังคม ซึ่งเจตจำนงค์ของการนิทรรศการคือการสร้างความปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคม และกฎหมายก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น.-315.-สำนักข่าวไทย