ผู้ตรวจฯ 14 พ.ค.- มติผู้ตรวจการแผ่นดินตีตกคำร้องเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ส่งศาล รธน.- ศาลปกครอง วินิจฉัย การกำหนดเป็นนโยบาย แถลงต่อรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจบริหารตาม รธน.กำหนด และยังไม่พบจะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติไม่ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีมีผู้ยื่นเรื่องขอให้พิจารณษเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี กำหนดนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า การกำหนดนโยบาย และการแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจทางการบริหารของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ ในฐานะองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร จึงไม่ใช่การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
รวมถึงที่ร้องเรียนไม่ใช่การร้อง ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือร้องเรียนว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 37 (3) ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้
ส่วนกรณีรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 ในฐานะประธานกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ว่า จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567, 2568 ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงิน 3 ส่วน คือ 1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ของงบประมาณปี 2568 และ 3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม และไม่มีประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 22 (2) และมาตรา 23 พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้ .314.-สำนักข่าวไทย