กรุงเทพฯ 30 เม.ย.-อดีตคณบดี มธ. พร้อมว่าที่ผู้สมัคร สว. ร้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว โวย กกต.กำหนดเงื่อนไขแคบเกิน ขัดหลัก ปชต. “ชลณัฏฐ์” ปัดเป็น สว.สีส้ม แต่ย้ำหากอุดมการณ์ตรงกับพรรคการเมืองใดก็ไม่แปลก ด้าน “ยิ่งชีพ” หวังเว็บ senate67 ได้คัมแบ็ก หากศาลสั่งคุ้มครอง
นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมคณะ เข้ายื่นฟ้องกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 และขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้มีคำสั่งระงับการบังคับใช้ระเบียบฯดังกล่าวไว้ก่อน
นายพนัส กล่าวว่า ระเบียบกกต.ที่ออกมามีประเด็นที่อยากให้ศาลปกครองวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะข้อที่ 7,8 และข้อ 11 โดยเฉพาะข้อห้ามในเรื่องของการแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิด รวมไปถึงโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งเราคิดว่ากกต.ไม่มีอำนาจมากำหนดและจำกัดสิทธิในการแนะนำตัวผู้สมัคร ระเบียบกกต.ที่ออกมาเป็นการจำกัดสิทธิพวกเรามากเกินไป
นายพนัส กล่าวว่า เราทราบดีว่าระเบียบนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ เนื่องจากต้องรอพระราชกฤษฎีกา แล้วต้องรอให้เราเป็นผู้สมัคร วันนี้ยังไม่เป็นผู้สมัครแต่เป็นผู้ที่ประสงค์จะเข้ามาสมัคร จึงมองว่าควรมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เพราะตามรัฐธรรมนูญสว.ต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งในคำร้องได้ขอให้ศาลมีการไปสวนฉุกเฉิน มองว่ายิ่งศาลไต่สวนเร็วเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี
“อย่างผมเองผมก็แนะนำตัวเอง อาจเป็นคนแรกๆที่แนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก ว่าผมตั้งใจจะลงสมัครสว. พอมีระเบียบนี้มันก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าเราจะสามารถทำสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องการให้สิ่งนี้ชัดเจนขึ้นมา มองว่ากกต.ไม่น่าจะมีอำนาจ ในการกำหนดเงื่อนไขในการแนะนำตัวได้แคบถึงเป็นระบบปิด อำนาจของกกต.กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดในการที่ออกระเบียบนี้มา มีความสมดุลมากน้อยแค่ไหน”
เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับคำร้องจะดำเนินการอย่างไร นายพนัส กล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งของศาลว่าเราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองหมายความว่าเป็นการคุ้มครองผู้ฟ้องนั่นพวกเรา และข้อบังคับในระเบียบของกกต.ก็จะไม่มีผลต่อพวกเรา ระเบียบฯดังกล่าว กระทบต่อพวกตนโดยตรง ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแนะนำตัวเองได้เลย ที่สำคัญที่สุด คือเป็นการปิดปากมัดมือมัดเท้าพวกเรา ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้มีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นในระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ
ส่วนที่วิเคราะห์กันว่าระเบียบนี้เป็นการสกัดสว.สีส้ม นายพนัส กล่าวว่า เราไม่ได้พิจารณาในประเด็นสีส้มหรือสีอะไร เราแค่อยากจะยึดตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย ควรจะเป็นระบบเปิดเพราะเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน แต่กลายเป็นว่าการจะมีสว. 200 คน ประชาชนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งมันไม่น่าจะถูกต้องกับหลักของประชาธิปไตย”
ส่วนที่กกต.ระบุว่าได้เก็บข้อมูลผู้ประสงค์ที่จะลงสมัครในเว็บไซต์ Senate67 และพร้อมเอาผิด หากพบว่ามีมูล นายพนัส มองว่านี่เป็นการข่มขู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกกต.ไม่ได้บอกว่ามีอำนาจอะไรที่สามารถดำเนินการอย่างนั้น และตนได้ฟังข่าวเมื่อเช้าวันนี้ (30 เม.ย.) ก็เห็นว่าสามารถแนะนำตัวผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ เพียงแต่ว่าห้ามชี้นำ หรือฮั้วกัน หากเป็นจริงตามข่าวก็แสดงว่ากกต.ยอมรับว่าสามารถทำได้ โดยประเด็นน่าเป็นห่วงคือ มาตรา 36 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. มีการกำหนดโทษไว้ว่าถ้ากระทำการผิดเงื่อนไขหรือวิธีการที่กกต.กำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
“ต้องพิจารณาให้ดีว่าระเบียบที่กกต.ได้ออกมาเป็นเรื่องที่สำคัญมากหรือไม่ ถึงขนาดว่าถ้าทำผิดเงื่อนไข พวกเราจะต้องติดคุกเป็นปี และถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือซึ่ง สิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ควรมีโทษมากขนาดนี้ และมองว่าการจะแนะนำตัวได้ต้องมีการออกสื่อดังนั้นหากจะผิดก็ควรจะผิดไปถึงสื่อมวลชน” นายพนัส กล่าว
ด้านน.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล ผู้ที่ประสงค์รับเลือกเป็นสว. กล่าวถึง ว่าตัวระเบียบและกฎหมายขัดแย้งกัน โดยยกตัวอย่างว่าผู้สมัครไม่สามารถหาเสียงแนะนำตัวกับประชาชนทั่วไปจึงเกิดคำถามว่า ในการดำเนินการจะมีการแยกอย่างไร ว่าใครเป็นผู้สมัครบ้าง โดยเฉพาะwww.senate67.com ถูก กกต.สั่งปิด ซึ่งกกต.ข่มขู่ให้เอาลง ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่ากลุ่มที่แสดงเจตจำนงในการสมัครนี้ไม่ได้มีสี ไม่ว่าจะส้มหรือสีใดตามที่มีข้อสังเกต และย้ำถึงความเป็นอิสระ แต่หากหลักการอุดมการณ์ในการทำหน้าที่ไปตรงกับกลุ่มพรรคการเมืองใดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
“ห่วงการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวด้วยระเบียบที่ซับซ้อนและมีข้อจำกัด โดยเฉพาะมีผู้เตรียมสมัคร สว.ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวหรือ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าว ที่มีข้อห้ามว่าไม่ให้ผู้สมัครให้สัมภาษณ์ออกสื่อ จะทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนระเบียบ ถูกตัดสิทธิ์การสมัคร แต่กฎหมายไม่ได้ระบุฐานความผิดไว้ว่าขัดต่อมาตราใด” น.ส.ชลณัฏฐ์ กล่าว
ด้านนายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า ไอลอว์มีความตั้งใจ ทำ senate67.com ช่วย กกต. ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับกติกาการเลือกสว และข้อมูลผู้สมัคร สว.ว่ามีใครบ้าง เพื่อให้ผู้สมัครมีพื้นที่ในการออกสื่อสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับผู้สมัคร เพื่อจะได้ติดตามข่าว แต่ระเบียบของ กกต.ไม่มีความชัดเจนว่าสามารถทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้
“เชื่อว่าการทำเว็บไซต์ที่ทำมาก่อนหน้านี้สามารถทำได้ เพราะอะไรที่กฎหมายไม่ได้สั่งห้าม สามารถทำได้ แต่ผู้สมัครหลายคนที่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ดังกล่าว กังวลว่าจะถูก กกต.ตีความกลายเป็นความผิด ทำให้ไอลอว์ ตัดสินใจนำข้อมูลทั้งหมดออก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อีก 1-2 วัน รจะกลับมา หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้มีฟังก์ชันในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร สว. พร้อมยืนยันว่าข้อมูลผู้สมัครทั้ง 1,300 กว่าคนยังเก็บอยู่ในชั้นความลับ ไม่มีการจัดตั้ง หรือเข้าถึงข้อมูลได้” นายยิ่งชีพ กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย