กทม. 20 เม.ย.-รัฐบาลห่วงสุขอนามัยเด็กในหน้าร้อน กรมการแพทย์แนะผู้ปกครองควรระมัดระวังเรื่องสุขภาพ ย้ำรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ป้องกันฮีทสโตรก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ทุกภาคของประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 33-43 องศาเซลเซียส รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในหน้าร้อนโดยเฉพาะโรคที่มากับหน้าร้อนและฮีทสโตรก จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดดังกล่าวโดยเฉพาะเด็ก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำให้ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลสุขอนามัยให้แก่เด็กในหน้าร้อนที่มักเกิดโรคในเด็ก เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กและฮีทสโตรก โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิสูง เชื้อโรคต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปะปนมากับอาหารและน้ำดื่ม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กให้มากที่สุด เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อมูลกรมการแพทย์ ระบุโรคหน้าร้อนที่พบบ่อยในเด็ก เช่น 1) โรคท้องร่วง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตรซัว พยาธิ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป โดยจะพบอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปนและเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ติดเชื้อในเลือด เสี่ยงต่อการคุกคามถึงชีวิตได้ 2) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากเชื้อต่าง ๆ ที่มาจากพิษแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารเคมีที่ปนเปื้อน มักพบได้จากอาหารที่ไม่สุกสะอาด อาการมีไข้ ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง 3) โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน อาการของโรค คือ ผิวหนังจะแห้ง คันและไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ การป้องกันทำได้โดย เลือกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่มใช้สบู่อ่อน และใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้น 4) โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก เกิดจากอากาศที่ร้อนเกินไปจนทำให้ร่างกายปรับสมดุลอุณหภูมิไม่ได้ จนอาจเกิดอาการฮีทสโตรก อาการที่พบได้แก่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัวหายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะช็อกจนเสียชีวิตได้
“กรมการแพทย์แนะนำให้ผู้ปกครองควรระมัดระวังในเรื่องสุขภาพ และความสะอาดให้แก่เด็ก ๆ โดยมีหลักสำคัญคือรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อน หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลมให้บุตรหลาน ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำมากขึ้นในวันที่มีอากาศร้อนจัดเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และดูแลสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคในหน้าร้อน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-315.-สำนักข่าวไทย