ก้าวไกลซัดไม่ควรตั้งงบฉุกเฉินไว้ในงบกลาง

รัฐสภา 20 มี.ค.-สภาฯ ไม่ปรับลดงบกลาง ยึดตาม มธ.เสียงข้างมาก “เรืองไกร” แฉมีคนล็อบบี้งบนายกฯ พันล้าน เลยเสนอตัดออก ขู่ถ้ายังไม่ตัด เจอร้องป.ป.ช.แน่ ขณะ “ศิริกัญญา” ซัดไม่เคยถอดบทเรียนจากรัฐบาลที่แล้ว งบฉุกเฉินควรใช้ตอนฉุกเฉิน ไม่ใช่ตั้งงบกลางขาดแล้วเอาเงินฉุกเฉินไปใช้ ด้าน “นิคม” เสนอลด 1 % เหตุบางรายการตั้งไว้สูง แต่ใช้ไม่ถึง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระ 2 และ 3 มาตรา 6 ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณรายจ่ายงบกลาง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการสงวนความเห็น ขออภิปรายปรับลดงบกลางให้เหลือ 5.7 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบตามวัตถุประสงค์ในการมีงบกลาง โดยทางปีนี้รัฐบาลไม่ได้จัดสรรเบี้ยหวัดบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอ

“เป็นการพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่ตั้งงบไว้ขาดเป็นจำนวนมาก เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ตั้งขาดไป 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐตั้งขาดไป 2 หมื่นล้านบาท เรื่องนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นความจริงในการตั้งงบประมาณขาด แต่จะขาดเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการประมาณการ สุดท้ายต้องใช้งบกลางเงินสำรองรายจ่ายฉุกเฉิน คิดว่ารัฐบาลไม่ได้ถอดบทเรียนจากรัฐบาลชุดที่แล้วเลย ในการจัดทำงบกลางให้ดีขึ้น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เท่ากับว่าเราไม่ต้องใช้เงินสำรองรายจ่ายฉุกเฉินเพื่อไปทำมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใดแล้วใช่หรือไม่คะ วัตถุประสงค์ของงบกลางไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ไว้ใช้อุดช่องโหว่ในการทำนโยบายของรัฐบาล  ดังนั้น งบประมาณฉุกเฉินควรจะต้องใช้เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลตั้งใจตั้งงบขาด แล้วจะมาใช้เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น จึงเสนอให้ตัดลดงบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นลง 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการสงวนความเห็น อภิปรายขอปรับลดงบกลาง 1.4 พันล้านบาท โดยระบุว่า ในกรรมาธิการที่มีการหารือกันอยู่นั้น มีรองประธานกรรมาธิการบอกว่าของบให้รัฐสภาไทย ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะมีส่วนได้เสีย

“ในการพิจารณาปรับเพิ่ม 1 พันล้านบาท วันนั้นมีการพูดคุยกันกลางห้องประชุม จับกลุ่มพูดคุยว่าจะเอาตรงไหนไปไหนมีการบอกว่าจะเอาไปประกันสังคม 500 ล้านบาท ตัว 1 พันล้านบาทบอกว่าท่านนายกฯ ขอมา ผมฟังแล้วผมก็ตกใจ ถ้าบอกขอมา อย่างนี้วันนี้ผมต้องขอเสนอตัดออก เพราะให้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าให้ผ่านไปในมาตรา 144 ก็ต้องถูกร้องแน่ การที่มาพูดแล้วในห้องกรรมาธิการ แม้ว่าจะไม่ได้ออกเสียง แต่ก็มีคณะกรรมาธิการที่เป็นคณะรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย…ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติคำวินิจฉัยไว้ว่าถ้ามีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นก็ต้องไม่อยู่ในห้อง เฉกเช่นเดียวกันกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ท่านก็ทำเป็นตัวอย่าง ผมยังติดใจเรื่องนี้และเสนอให้ท่านตัด 1 พันล้านบาทออกไป เพราะอย่างไรงบกลางก็ยังมี 9 หมื่นกว่าล้าน อย่าไปเสี่ยงกับเงินเล็กน้อย และมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะอย่างไรเสียผมเป็นกรรมาธิการ แม้เสียงข้างน้อย ผมก็ใช้สิทธิ์ที่จะต้องยื่น ป.ป.ช.แน่นอน ถ้าตัวเลขนี้ไม่ตัดออก” นายเรืองไกร กล่าว


ด้านนายนิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่างบที่ตั้งไว้สูงมาก เปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่าแต่เมื่อมาดูเนื้อหาสาระ การตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางค่อนข้างสูงนั้นเป็นงบที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถตัดได้เลย โดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการลูกจ้างข้าราชการของรัฐกว่า 79 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตั้งเพราะบางปีใช้ไม่เพียงพอ งบช่วยเหลือ ข้าราชการลูกจ้างพนักงาน 4.5 พันล้านก็ถือว่ายังน้อยอยู่ รวมถึงเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญที่ต้องมาดูแลผู้สูงอายุ จึงทำให้งบประมาณรายจ่ายกลางมีสูง แต่ยังมีงบบางงบ ที่สามารถตัดได้ เนื่องจากว่าเป็นงบที่ตั้งไว้กรณีเงินสำรองจ่ายเงินสมทบและเงินชดเชย ซึ่งตั้งไว้ 7 หมื่นล้าน เงินก้อนนี้ทุกปีใช้ไม่ถึง

“ควรตัดออกมา 2.5 พันล้าน ตัดไปช่วยเหลือไปลงทุนให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ช่วยเหลือ SME และทำให้เกิดการจ้างงานอาชีพเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น และเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินจำเป็นซึ่งเราตั้งไว้เยอะทุกปีบางปีใช้ไม่เพียงพอบางปีใช้เงินเกิน ซึ่งเป็นงบที่ตั้งไว้กรณีที่มีวาตภัยที่ทำให้บ้านเรือนประชาชนดีหมายอุทกภัยน้ำท่วมจำเป็นต้องใช้งบตรงนี้เร่งด่วน รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งไว้ 9 หมื่นล้านบาท แต่ถึงแม้จะตั้งไว้เท่านี้ แต่สามารถตัดได้ 3.5 พันล้านเพราะบางครั้งใช้ไม่หมด เพื่อเอาไปใช้ในสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เห็นควรปรับลดงบกลาง 1 % จำนวน 6 พันล้าน” นายนิคม กล่าว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กมธ.สัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า ปีนี้มีการตั้งงบประมาณในส่วนของงบกลางเอาไว้ 6.657 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยหวัด ค่ารักษาพยาบาลราชการหรือลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำควรแยกส่วนต่างหากไม่ควรนำมารวมไว้ในงบกลาง ให้เข้าใจไขว่เขวว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารทั้งที่เป็นเงินที่ต้องจ่ายเป็นประจำตามกฎหมายนั้น ๆ ส่วนเงินที่ต้องสำรองจ่ายหากฉุกเฉินหรือจำเป็นที่จะใช้ได้ในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยปีนี้ตั้งไว้สูงถึง 9.85 หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้ตรวจสอบ นอกจากนี้ ในช่วงการพิจารณาปรับลดของกมธ.นั้น รัฐบาลได้แปรเพิ่มจากงบที่ปรับลดจากหน่วยราชการต่างๆ มาไว้ในงบกลางอีกจำนวน 1 พันล้านบาทรวมเป็นงบกลางที่ตั้งไว้ใช้จ่ายเพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเป็น 9.95 หมื่นล้านบาท อีกเพียง 500 ล้านจะถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์

“มีข้อสังเกตว่าในงบประมาณจำนวนนี้ น่าจะมีบางส่วนมาจากการปรับลดโครงการซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือที่ตั้งงบประมาณปี 67 ไว้กว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกตัดออกทั้งหมด และงบที่ถูกตัดทั้งหมดย่อมถูกนำมาอยู่ในงบกลาง ฉะนั้น การใช้จ่ายงบกลางของรัฐบาลนี้ก็ควรที่จะต้องใช้จ่ายให้ตรงกับวัตถุประสงค์คือเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่เปิดช่องไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นใดๆ หากโครงการที่รัฐบาลอนุมัติไม่เหมาะสม ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วนจริง ๆ จะเกิดการเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือเพื่อมาปกป้องอธิปไตย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับถูกปรับออกไป การใช้จ่ายงบกลางต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะถูกจับตาจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากกองทัพเรือ หากเป็นไปได้งบประมาณปี 68 รัฐบาลควรหากแนวทางให้กองทัพเรือได้เรือฟริเกตโดยมีเงื่อนไขให้กองทัพเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เพราะเงินงบประมาณก็จะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ หมุนเวียนอยู่ในประเทศเราเอง ผมจะรอฟังคำตอบประเด็นนี้จากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม” นายชวลิต กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอตัดงบในมาตรานี้ลง 10 เปอร์เซ็น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือรายจ่ายจำเป็น มีเรื่องของโครงการที่เรียกว่าเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเอาเด็กเป็นตัวประกันในการใช้จ่ายงบกลาง และเมื่อย้อนกลับไปดูประเทศไทยมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ทั้งหมด 4 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแบบงบประจำถ้วนหน้าไปเลย แต่ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบจำกัดจำนวน และใช้จ่ายงบกลาง และตั้งแต่ปี 2566 ก็ขอใช้งบกลางตลอด จนกลายเป็นงบประจำไปแล้ว รวมถึงอ้างเรื่องความยากจน โดยในปี 2566 ซึ่งถือว่าเข้ารัฐบาลชุดนี้ ขอใช้จ่ายเงินงบกลางทั้งสิ้น 998.4 ล้านบาท แต่การเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบกลางทำให้ พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กจำเป็นต้องรอเงินที่อาศัยงบกลาง นี่คือการสะท้อนประสิทธิภาพของการเบิกจ่ายงบกลาง เพราะหากรัฐบาลใช้ระบบโครงการอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบกลางแบบนี้

ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า งบกลางในหมวดสำรองจ่ายในปี 67 ที่เรากำลังพิจารณากันมีการเบิกจ่ายต่ำ เนื่องจากในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบกลางที่เป็นเงินสำรองจ่ายนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาถึงความพร้อม ความสามารถตามระเบียบความจำเป็น แผนงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามที่สำนักงบประมาณควรจะต้องพิจารณา ส่วนใหญ่งบกลางจะจัดสรรในช่วงกลางปีงบประมาณ แต่ในเรื่องของการเบิกจ่ายมีความล่าช้าส่วนใหญ่ก็สืบเนื่องมาจากเรื่องของภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีความคาดหมายไว้ล่วงหน้า การของบประมาณจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้

“ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณในรอบ 1 ปีงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และคิดว่าประชาชนคนไทยคงไม่อยากเจ็บป่วย ทำให้การตั้งงบประมาณเป็นไปตามสมมุติฐานที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่บุคลากรภาครัฐจะมีการเบิกจ่ายรวมถึงระดับมหภาคด้วย อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายจะเป็นไปตามสิทธิ การขอใช้สิทธิตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการใช้งบกลางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์จะเห็นว่าเป็นการสำรองจ่ายใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณไว้เราคาดการณ์ไว้ว่างบประมาณที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณที่มีความจำเป็นต้องจัดสรรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้ งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงขอยืนยันว่าดิฉันเห็นกับกรรมาธิการในมาตรานี้” นางมนพร กล่าว

ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ 279 เสียง ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีเสียงไม่เห็นด้วย 160 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง.-312.-สำนักข่าวไทย       

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบนายกฯ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบ “แพทองธาร” นายกฯ ชื่นชมเป็นคนเก่ง-มองโลกบวก เป็นหน้าตาของประเทศ นำเสนอวัฒนธรรม-ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการประกวด พร้อมชวนร่วมงานรัฐบาล สร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ขณะที่ นายกฯ เขินถูกชมว่าตัวจริงสวย

ล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง

คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญถกคำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างฯ

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ “รับ/ไม่รับ” คำร้องปม “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่