ตาก 8 ก.พ.- “ปานปรีย์” ลงพื้นที่ดูจุดริเริ่มส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา เผยประสานลงตัว คาด 1 เดือนเห็นเป็นรูปธรรม ยืนยัน ไม่ใช่ศูนย์ลี้ภัย โต้คนกังขา ประสานกาชาดเมียนมาเป็นกลางหรือไม่ เชื่อเจตนาต้องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ลั่น ไม่ใช่เรื่องการเมือง มอง ปัญหาภายในไม่ขอแทรกแซง
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสาธารณสุขชายแดน ที่อาคารด่านศุลกากรแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย-ตองยิน แห่งที่ 2 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พลตรีณรงค์ฤทธิ ปาณิกบุตร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ร่วมประชุม จากนั้นเยี่ยมชมจุดผ่านแดนถาวรไทย-เมียนมา บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และพิธีการศุลกากรที่อาคารด่านศุลกากรแม่สอด
นายปานปรีย์ กล่าวว่าจะผลักดันการตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เป็นรูปธรรมได้ภายใน 1 เดือน ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยจุดนี้เป็นจุดแรก ที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไป ซึ่งได้มีการประสานกับ รัฐบาลเมียนมาในลำดับแรกและได้รับการตอบรับด้วยดี และส่งทีมมาพูดคุยยังประเทศไทย
ขณะเดียวกันนายปานปรีย์ ยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยมีความพยายามในการประสานกับชนกลุ่มน้อยต่างๆซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ผ่านมา ได้ตั้งนายอรุณ แก้ว มาประสานงานนำร่องไปเจรจาและไทยก็พยายามประสานอยู่ ซึ่งคาดว่าเมื่อทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ จะเกิดการพูดคุยกัน ที่จะนำไปสู่การพูดคุยหรือที่เรียกว่า dialog ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถพูดคุยกันได้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา และอาจจะทำให้มีการหยุดยิง นำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพต่อไป จึงคิดว่าข้อริเริ่มที่ไทยดำเนินการ อาจนำไปสู่การพูดคุยได้เพราะเป็นเรื่องกับประชาชนโดยตรงไม่มีเรื่องของการเมือง ดังนั้นทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ที่อาเซียนเสนอมาตั้งแต่ต้น พร้อมกับเชื่อว่าทุกฝ่ายในเมียนมาต้องการความสงบสุข และกลับไปสู่สันติภาพ และทางเดียวที่ทำได้คิดว่าการที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาพูดคุยกัน ภายใต้นโยบายด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ทั้งนี้ นายปานปรีย์ ยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ และสิ่งที่ทำก็อยู่ภายใต้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และขอยืนยันว่าเป็นคนละเรื่องกับการตั้งศูนย์รับผู้ลี้ภัย แต่อย่างไรก็ตาม ไทยก็ได้มีการเตรียมความพร้อมหากมีกรณีที่เกิดเหตุความรุนแรง แต่กรณีนี้ เป็นเรื่องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยจะเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว และอยู่ในฝั่งของเมียนมาและย้ำว่า สิ่งที่ไทยดำเนินการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฉันทางมติ 5 ข้อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยข้อนี้ถือเป็นข้อแรกที่สามารถทำได้ก่อน
“วันนี้เราต้องมีจุดเริ่มต้นที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากรัฐบาลเมียนมา ถ้าเราไปเริ่มต้นกับคนอื่นในที่สุดเราก็ต้องกลับมาพูดคุยกับรัฐบาลอยู่ดี วันนี้เราก็เลยต้องเริ่มต้นจากรัฐบาล และปัญหาภายในของเมียนมา เขาก็พยายามจะแก้ไขด้วยตัวเขาเอง เราจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน เป้าหมายของเราคือการที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังนั้นเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะเลือกพูดคุยกับใคร หรือสนับสนุนใคร แต่เราสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา” นายปานปรีย์ กล่าว
ส่วนที่มีข้อกังวลถึงการประสานเบื้องต้นกับสภากาชาดของเมียนมา นายปานปรีย์ กล่าวว่า ขออย่ากังวล การทำงานจะต้องมีจุดเริ่มต้น เมื่อเริ่มต้นมาถึงจุดนี้แล้ว ก็จะต้องนำสภากาชาดของประเทศไทยและเชื่อว่าทุกคนให้การยอมรับ แต่มีข้อสงสัยว่าสภากาชาดของเมียนมานั้นเป็นกลางหรือไม่ ได้มีการร้องขอให้ AHA Center และกาชาดสากลรับปากจะเข้ามา ซึ่งหน่วยงานกลางของอาเซียนเข้าสังเกตการณ์ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกฝ่ายว่าการลำเลียงสิ่งของ โดยยืนยันไม่มีเรื่องการเมือง แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนที่มีใครเป็นกังวลหรือไม่ตนชื่อว่ากาชาดของเมียนมามีเจตนาที่จะช่วยเหลือประชาชนเช่นเดียวกัน
ส่วนการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือ นายปานปรีย์ กล่าวว่า สิ่งของที่จะนำไปช่วยเหลือในเบื้องต้น กับกลุ่มคนประมาณ 20,000 คนจะต้องมีการ สังเกตการว่า มีการแจกจ่ายทั่วถึงหรือไม่ มีปัญหาตรงไหนก็ต้องนำกลับมาแก้ไข ซึ่งวันนี้จะให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ 100% คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมาวุ่นวายมาก ต่างคนต่างไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นจึงต้องทำตรงนี้ให้เป็นขั้นตอน ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าน่าจะเรียบร้อยดีที่สุด พร้อมย้ำว่า ตรงนี้เป็นจุดแรกค่ะประสบความสำเร็จ ได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย ก็เชื่อว่าจะขยายยังจุดอื่นต่อไป ซึ่งจากการที่ไปร่วมการประชุมทั้งในอาเซียน EU และอาเซียนอินโดแปซิฟิก ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่ง EU ยืนยันว่าหากศูนย์นี้เกิดก็พร้อมให้การสนับสนุนในวงเงินที่สูงมาก ถึง 20 ล้านยูโร
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้นายปานปรีย์ จะพบปะผู้ประกอบการรายย่อยที่ริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ข้ามแม่น้ำเมย - ตองยิน
ขณะที่นายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผอ.กองเอเชียตะวันออก กรมเอเชียตะวันออกบรรยาสรุปถึงขั้นตอนด่านศุลกากรด่านแม่สอด มีข้อริเริ่มในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังรัฐกระเหรี่ยงประเทศเมียนมา โดยเริ่มต้นจากด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 ผ่านด่านแม่สอดเมียวดี สะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา แห่งที่ 2 ไปยังพื้นที่ที่มีผู้ผลัดถิ่น โดยสภากาชาดไทยเป็นผู้ส่งมอบไปยังสภากาชาดเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประชุมในวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยส่งของที่ส่งมอบส่วนใหญ่เป็นข้าวสารอาหารแห้ง โดยพื้นที่ส่งมอบเป็นพื้นที่นำร่อง 3 หมู่บ้านในรัฐกระเหรี่ยง ซึ้งมีจำนวนประชากรประมาณ 20,000คน ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างโอนงบไปสภากาชาด ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการจัดหาสิ่งของก่อนนัดวันส่งมอบ โดยจะต้องผ่านพิธีศุลกากร เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งอื่นปะปน เพื่อความโปร่งใส โดยมีตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศร่วม สังเกตการณ์ โดยระหว่างนี้ได้มีการเจรจาใน 2 ประเด็นกับทางเมียนมา ทั้งเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเมียนมาต้องมีพื้นที่คุยในพื้นที่ให้เปิดทางไม่ให้กระทบกับการขนส่ง สร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการนำ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre) ร่วมสังเกตการณ์ โดยทางเมียนมาใช้พื้นที่ที่มีความเป็นกลางไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งทางเมียนมาเข้าใจ และเตรียมจัดหาพื้นที่พักรอเพื่อแจกจ่าย นอกจากนี้ในกระบวนการแจกจ่ายให้หัวหน้าชุมชนเจ้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะถึงกลุ่มจริงๆ .-312 สำนักข่าวไทย