รัฐสภา 23 ม.ค.- “วิโรจน์” มอง “สุทิน” เชิญร่วมคณะกรรมการศึกษาเรือดำน้ำเป็นความคิดที่ดี แต่ขอดูรายละเอียดก่อน หวั่นทำลายหลักการถ่วงดุล ตรวจสอบ ชี้อำนาจนิติบัญญัติไม่ควรแทรกแซงอำนาจตัดสินใจของฝ่ายบริหาร
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องดำน้ำ โดยจะเชิญตัวแทนฝ่ายค้าน คือนายวิโรจน์ หรือนายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรร่วมคณะกรรมการด้วย ว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะให้ร่วมมือเรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพียงแค่ให้ข้อมูลรายละเอียด และตอบคำถามข้อสงสัยจากคณะกรรมาธิการฯ ก็ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ เพียงแต่ต้องไม่ลืมหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจของฝ่ายบริหารและการตัดสินใจยังอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความรับผิดความรับชอบในการตัดสินใจยังอยู่ในมือของรัฐมนตรี
“คงต้องพูดคุยกันในส่วนของสส. สิ่งที่ผมกังวลคือจะเอาความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติไปอ้างอิงในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ซึ่งหากเป็นลักษณะนั้นจะทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักการประชาธิปไตยทันที ส่วนความรู้สึกส่วนตัวระหว่างผมกับนายสุทินก็เข้าใจ เพียงแต่อยากรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการทหารหรือคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ และในส่วนของคณะกรรมาธิการการทหาร คิดว่าอยากจะให้อยู่ในส่วนของกระทรวงกลาโหมและคณะกรรมาธิการการทหารมากกว่าจะเป็นนายวิโรจน์หรือใครคนใดคนหนึ่ง” นายวิโรจน์ กล่าว
ส่วนจะปฏิเสธหรือตอบรับ นายวิโรจน์ กล่าวว่า คงมีโอกาสหารือกับนายสุทิน ขอคุยรายละเอียดกันก่อน เพราะเพิ่งทราบ แต่เจตนาจะคลี่คลายหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับเงินภาษีของประชาชนถือเป็นดำริที่ดี แต่ต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่า การจะเข้าไปร่วมจะทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อตกลงร่วมกันในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกระทรวงกลาโหมกับคณะกรรมาธิการการทหาร เปิดเผยรายละเอียดการตรวจสอบต่อสาธารณะ จะเป็นเรื่องที่ทำงานร่วมกันได้ แต่ถ้าเอาอำนาจนิติบัญญัติเข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร คงทำไม่ได้ จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเรือดำน้ำ นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจของนายยุทธพงศ์ แต่ในบทบาทของนายยุทธพงศ์ที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่มีข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำ และน่าจะช่วยงานองค์ประชุมได้มาก น่าจะเป็นบุคลากรที่จะช่วยนายสุทิน ได้ดี.-316.-สำนักข่าวไทย