รัฐสภา 8 ม.ค.- ‘ศิริกัญญา’ เสียดาย ดันไลฟ์ประชุมพิจารณางบฯ ไม่ถึงฝันอีกปี หลัง ‘ภูมิธรรม’ วินิจฉัยไม่อนุญาต ชี้ ปชช.มีสิทธิเต็มที่เพราะจ่ายเบี้ยประชุม ยันก้าวไกลไม่ส่งใครรับตำแหน่งใน กมธ.
วันนี้ (8 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2567 กรณีที่ พรรคก้าวไกลไม่ส่งกรรมาธิการดำรงตำแหน่งใดและที่ประชุมมีมติไม่ให้ ถ่ายทอดสดการประชุมสู่สาธารณะ
นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า เรื่องนี้เป็นธรรมเนียม เพราะที่ผ่านมาใช้เวลานานในการกำหนดตัวบุคคลที่จะนั่งในตำแหน่งใดๆ มีการถกเถียงหลายครั้งหลายรอบ พรรคก้าวไกลจึงตัดปัญหาที่เราจะ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เพื่อให้ในที่ประชุมมีเวลามีเวลาในการพิจารณาในการพิจารณามากขึ้น จึงทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2564 ที่จะไม่รับตำแหน่งใด จึงไม่มีกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกลเข้าไปรับตำแหน่งรองประธาน เลขานุการหรือโฆษก
ส่วนข้อเสนอในการถ่ายทอดสดการประชุมสู่สาธารณะนั้น ที่มีการเสนอจนเกือบได้ลงมติแต่ทางประธานได้วินิจฉัยไม่ให้ถ่ายทอดสด นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า หากได้ติดตามการประชุมวันนี้จะเห็นได้ว่ากรรมาธิการหลายท่านเริ่มมีความเห็นว่าก้าวไกลขอเรื่องนี้ทุกปี ว่าจะให้มีการไลฟ์การประชุม และยืนยันถึงความสำคัญที่จะให้มีการถ่ายทอดสดถึงประชาชน เพื่อให้รับรู้ถึงการใช้จ่ายภาษีของประชาชนกว่า 3.48 ล้านล้านบาท เราอยากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมติดตามความคืบหน้าต่างๆ ไม่ได้กังวลว่าจะมีการฟ้องร้องอะไร เราคิดว่ามันมีลักษณะเหมือนกับที่หน่วยงานต่างๆเข้ามาชี้แจงต่อรัฐสภา หากกังวลมากก็จะระมัดระวังคำพูดตนเองที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้องในภายหลังได้
แต่อย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จอีกปีหนึ่ง แม้ว่าจะพยายามให้มีการลงมติแล้วก็ตาม เพื่อให้บันทึกไว้ เพราะประธานก็ได้ใช้อำนาจ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆมา ที่เรายืนยันว่าประธานมีอำนาจแต่ประธานก็ไม่ได้ใช้อำนาจ ตัดสินใจ ก็ถือว่าเป็นอันจบกัน แต่ยังมีเรื่องที่ดี เพราะยังมีการถ่ายทอดสดหน้าห้องประชุมอยู่ สื่อมวลชนสามารถถ่ายทอดสดหน้าห้องประชุมได้ และเขาอนุญาตให้ทำ
เมื่อถามว่าการถ่ายทอดสดหรือไม่ถ่ายทอดสด ประชาชนจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เราจะไม่ได้เห็นในกระบวนการว่าแต่ละฝ่ายพูดเรื่องอะไร หรือพูดว่าอะไร ก็จะได้เห็นเพียงข้อสรุป หรือมติในที่ประชุมเฉยๆ เพราะความจริงวิธีการที่จะพูดคุยกันในที่ประชุมนั้นสามารถบอกอะไรได้หลายๆอย่าง ว่าแต่ละคนมีทัศนคติในแต่ละเรื่องอย่างไร ซึ่งในการประชุมทุกครั้งก็เป็นภาษีประชาชนที่จ่ายค่าเบี้ยประชุมให้กับพวกเรา จึงคิดว่าประชาชนมีสิทธิเต็มที่ ที่จะรับรู้ว่าเราคุยอะไรกันบ้าง
“ส่วนตัวมองว่า เป็นความกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย ว่ามีเอกสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่คุ้มครองการพูดในสภาหรือในห้องประชุม ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการกังวลมากเกินไป คนที่พูดต้องรับผิดชอบในคำพูดนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องกันได้”
นางสาวศิริกัญญา ยังเปิดเผยอีกว่า ในปีนี้ที่ประชุม กมธ.งบฯ มีการปรับเปลี่ยนลำดับการพิจารณาหน่วยงานรับงบประมาณ โดยเรียงตามมาตรา ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่ตนเองเสนอ คือให้หน่วยงานที่รับงบมากที่สุดได้พิจารณาก่อน แต่เปลี่ยนเป็นพิจารณารายมาตราแทน ซึ่งเป็นแบบใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ เป็นสีสันใหม่ในการประชุม . 312 .-สำนักข่าวไทย