รัฐสภา 21 ธ.ค.- กมธ.ตำรวจฯ เผย แพทย์ราชทัณฑ์สั่งส่ง “ทักษิณ” ไป รพ.ตำรวจ แต่ยังสงสัยให้ผู้ต้องขังที่นอน รพ.จ่ายส่วนต่างเกินสิทธิ สปสช. ได้ เล็งไป รพ.ตำรวจ 12 ม.ค.ดูงานรวมชั้น 14 ด้านราชทัณฑ์ ยัน “ทักษิณ” กรอกประวัติทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้าเรือนจำ
นายชัยชนะ เดชเดโช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า วันนี้(21 ธ.ค.) มีความกระจ่างว่าการวินิจฉัยให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษชาย ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลไหน เป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งอาการป่วยมีโรคไวรัสตับอักเสบบี และเกิดอาการแน่นหน้าอกตอนดึก เนื่องจากเคยเป็นโรคปอดตอนติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จึงมีความเห็นว่า ให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และเงินที่ใช้ในการรักษาตัว ของนายทักษิณ ก็เป็นเงินสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า ถ้าเกินสิทธิ์ ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ที่จะจ่ายเงินส่วนต่างได้ ซึ่งก็จะถามว่ามีระเบียบข้อไหน ที่เปิดช่องให้ทำเช่นนี้ ขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งรายละเอียดมา
นายชัยชนะ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ยังไม่คลายข้อสงสัย 2 มาตรฐานดังกล่าว ต้องรอเอกสารที่กรมราชทัณฑ์ บอกว่าใช้สิทธิ์บัตรทอง ถ้าเกินจากสิทธิ์ แล้วสามารถชำระเงินเองได้ เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ ให้กับนักโทษคนอื่นได้ จึงต้องการระเบียบตัวนี้ รวมทั้งขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารข้อมูลภาพถ่ายผู้คุม ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ออกจากเรือนจำกรุงเทพฯและโรงพยาบาลตำรวจและการเข้าผลัดเวรต่างๆ ว่ามีจำนวนผู้คุมเท่าไหร่
ส่วนเรื่องการกรอกประวัตินั้น กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่าจะให้ดูใบกรอกประวัติของนายทักษิณ ว่าได้มีการพิมพ์ข้อความกรอกข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้ารับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทางผู้ร้องก็บอกว่า ขอใบที่กรอกด้วยมือ ร.ท.101 ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะส่งเอกสารมาให้และ นอกจากนี้ทางกรรมาธิการฯจะไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจแห่งชาติในเวลา 09.30 นวันที่ 12 มกราคม แต่ถ้ามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็อาจจะต้องเลื่อนวันไปโรงพยาบาลตำรวจออกไป
เมื่อถามว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่าในวันที่ 12 มกราคม นายทักษิณจะยังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนไม่ใช่เทวดาไม่สามารถตอบได้ ถ้าตนเป็นเทวดาจะตอบได้ว่า วันที่ 12 จะอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่รับผิดชอบ จะทำให้นักโทษคนไหนอย่างไร เป็นสิทธิ์ของคนนั้น แต่ถ้าตนบอกว่าอยู่ แล้วไม่อยู่ ตนก็เสียหน้า หากบอกว่าไม่อยู่ แต่เกิดอยู่ ตนก็เสียหน้าเช่นกัน ตนไม่ใช่ซุปเปอร์แมนที่จะเนรมิตทุกอย่างขึ้นมาได้
นายชัยชนะ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อสงสัยในระเบียบที่ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ตอบไม่ได้นั้น กรรมาธิการฯ ขอให้นำเรียนเป็นเอกสารมา เมื่อได้เอกสารมาทั้งหมดก็จะเห็นความกระจ่างทั้งหมดและที่สำคัญ นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม กรรมาธิการตำรวจฯ และนายวัชระ เพชรทอง ก็ขอว่าระเบียบกระทรวงและกฎกระทรวงที่ประกาศใช้ ในการที่ผู้ต้องขังจำขังนอกเรือนจำมีหลักเกณฑ์อย่างไรและมีคนที่เข้าข่ายจำนวนเท่าไหร่ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเป็นอย่างไร
สำหรับการเดินทางไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น นายชัยชนะ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ จะไปดูการรักษาตัวการปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรงพยาบาลตำรวจ การปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง ว่าพักรักษาตัวห้องใดบ้าง ตึกไหนบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร
“มาตรการในการควบคุมผู้ต้องขังที่ไปอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจมีมาตรการอย่างไร เจ้าหน้าที่ควบคุมเข้าเวรอย่างไร ซึ่งจะไปทุกชั้นรวมทั้งชั้น 14 หากไม่ให้เข้าไปดูชั้น 14 ก็ถือเป็นสิทธิ์ของโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเราต้องการไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงให้กับคนไทย แต่จะอนุญาตแค่ไหน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลตำรวจ ว่าจะอนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่อนุญาตก็ต้องตอบสังคมให้ได้”นายชัยชนะ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย