ศาลรัฐธรรมนูญ 20 ธ.ค.-“พิธา” พอใจชี้แจงศาลคำร้องถือหุ้นไอทีวี ยันแสดงเจตนาสละไม่รับมรดกหุ้น ก่อนร่วมพรรคอนาคตใหม่ มั่นใจกลับมาทำหน้าที่ สส.ทันทีหากพ้นข้อกล่าวหา ด้านศาล รธน.นัดฟังคำวินิจฉัย 24 ม.ค.67
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังเข้ารับการไต่สวนต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล คำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ในการไต่สวนพยาน 3 ปาก เป็นพยานฝั่งผู้ถูกร้อง 2 คน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล กับนายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 และยังเป็นผู้เซ็นรับรองในรายงานบันทึกการประชุม ส่วนพยานอีก 1 คน เป็นฝั่งผู้ร้อง คือ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ศาลเรียกให้มาไต่สวน
ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า ประเด็นที่ตุลาการศาลจะซักถามในการไต่สวน คือ บริษัท ไอทีวี ในวันที่นายพิธาได้รับมรดก และถือหุ้น ในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดก สรุปว่าเป็นสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ และในการถือหุ้นนั้นในฐานะอะไร มีข้อมูลว่าเป็นการถือหุ้นในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยหรือไม่ ในการได้รับมรดกจากบิดา
นายพิธา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการไต่สวนว่า บรรยากาศระหว่างการไต่สวนเป็นไปตามที่คาดหวัง พอใจกับกระบวนการ และได้ไต่สวนตามข้อเท็จจริงที่ตั้งใจไว้ทุกประการ รู้สึกพอใจ ส่วนรายละเอียดในการชี้แจง ตนคงให้สัมภาษณ์ไม่ได้ เพราะจะเป็นการละเมิดศาล แต่ในส่วนข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับการยุติจากประกอบกิจการไอทีวี หรือสถานะผู้จัดการมรดกของตนเอง ก็ได้รับการไต่สวนจากศาล และฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องและผู้ถูกฟ้องครบถ้วน แต่รายละเอียดตนไม่สามารถเปิดเผยได้
สำหรับการไต่สวนครั้งนี้มีพยาน 3 ปาก คือ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ เลขาฯ กกต. ในฐานะพยานผู้ร้อง นอกจากนั้น นายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี และตนเอง จากการฟังน้ำหนักพยานและหลักฐานจากตนเองและผู้ร้องแล้ว ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะจะเป็นการชี้นำและละเมิดศาลได้ แต่สิ่งที่จะให้สัมภาษณ์ได้ คือ พอใจและเป็นไปตามที่หวังไว้ทุกประการ ซึ่งสามารถบอกได้แค่นี้ ส่วนรายละเอียดขอให้รอการสรุปอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ไม่มีการนัดไต่สวน โดยจะมีการนัดตัดสินหรือการอ่านคำวินิจฉัยเลย
เมื่อถามถึงความมั่นใจว่า ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาให้การไต่สวนและหลังออกมา ยังมั่นใจเหมือนเดิมหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ยังมั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจว่าได้ทำตามหน้าที่ในฐานะผู้ถูกฟ้องอย่างเต็มที่แล้ว
ส่วนความคาดหวังต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้คาดหวังอะไร แต่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม ในกรณีนี้หากคำพิพากษาเป็นคุณ ก็หวังว่าจะกลับไปทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที
เมื่อถามว่า ประเด็นที่ศาลไต่สวนได้ถามครบถ้วนหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ตนรู้สึกพอใจกับกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้
เมื่อสื่อมวลชนถามนายพิธา ย้อนกลับว่า ก่อนการลงรับสมัครเลือกตั้ง สส. ได้ถือหุ้นไอทีวีไว้หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ในส่วนรายละเอียดอยู่ในชั้นศาล ตนไม่อยากที่จะละเมิดศาล แต่ก็ยืนยันว่าเป็นการถือแทนน้องชาย ซึ่งตนได้สละเจตนาตั้งแต่ก่อนอยู่พรรคอนาคตใหม่ และมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ตนจะตอบมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อที่มีการพูดคุยกัน ถ้าตอบไปจะเป็นการชี้นำสังคมและเป็นการละเมิดศาล
เมื่อถามว่า ไอทีวีได้ยุติการออกอากาศแล้ว สามารถกลับมาทำสื่อได้อีกครั้งหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ถ้าตามเอกสารก็ต้องดูที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่เคยได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เรื่องนี้ขอให้ถามนายคิมห์ น่าจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนตัวจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ถ้าได้ดูตามเอกสารที่ออกมาก็จะเห็นว่า ไอทีวีได้ยุติการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 50 ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งก็ไปอยู่ไทยพีบีเอสแล้ว ตอนนี้ใบอนุญาตก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การจะกลับมาประกอบกิจการเดิมก็ต้องมีทั้งคดีความที่เกี่ยวโยงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคลื่นความถี่ที่ไม่มีแล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่สอบถามไปยัง กสทช. ก็ไม่มี สำหรับคำพิพากษาผู้จัดการมรดกต้องมาจากศาลแพ่ง ส่วนที่เหลือเป็นการปันทรัพย์ ที่มีการส่งข้อมูลทางดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ว่า ฝ่ายนั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ และเรื่องของแสตมป์อากรก็ได้ชี้แจงไปแล้วครบทุกอย่าง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.-312-สำนักข่าวไทย