เมืองทองธานี 8 ธ.ค.- รัฐบาล-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ภาคีเครือข่าย ร่วมประกาศเจตจำนงวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล “ภูมิธรรม” ย้ำต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายแรงการทุจริต ลดช่องว่างกฎหมาย เป็นรัฐโปร่งใสตรวจสอบได้ขจัดการรับสินบน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. องค์กรณ์ต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้ธีม Break The Corruption ไม่ทำไม่ทน ไม่เฉย ร่วมไทยต้านโกง มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีประกาศเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริต
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention Against Corruption – UNCAC , 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีเครือข่ายสหประชาชาติจำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อปี 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
โดยปัญหาใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวทีระหว่างประเทศ สิ่งที่ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก เห็นพ้องต้องกัน คือ การต่อสู้กับคอร์รัปชันในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของนานาประเทศ ซึ่งจากผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต โดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์อย่างพร้อมเพรียงกัน ดังนั้นวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ทั่วโลกจึงได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น
ด้านนายภูมิธรรม กล่าวว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาคมโลกถึงภัยร้ายแรงจากการทุจริต วิธีการต่อต้านการทุจริต และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
ซึ่งการจัดงานนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันของคนไทยในทุกภาคส่วนที่ “ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉย” ต่อการทุจริต โดยปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานานส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในมุมมองของนานาชาติ
โดยจากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency Internationalหรือ TI) ให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่า ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคม เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมาย เพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และรับมือกับปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะฟื้นคืนความเชื่อมั่นในความโปร่งใสของการบริหารงานราชการทุกระดับ
การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคม สังคมไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางประการที่เอื้อต่อการทุจริต เช่น การให้สินบนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ ,การปรับปรุงระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริตจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้อย่างเป็นรูปธรรม, การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตประชาชนทุกคนจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต และควรกล้าที่ จะออกมามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต เช่น การแจ้งเบาะแสการทุจริต เป็นต้น การต่อต้านการทุจริตเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อสร้างสังคมไทยที่ปราศจากการทุจริตและที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
“รัฐเองต้องเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมตรวจสอบได้ตาม แนวทาง Open Government เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อใช้ในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการอนุมัติ อนุญาตเพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งลดการเรียกรับสินบน ซึ่งจะช่วยประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐ” นายภูมิธรรม กล่าว
จากนั้น ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน ได้ร่วมกันประกาศเจตจำนงในการต่อต้านทุจริตและแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านการทุจริตร่วมกัน.-316.-สำนักข่าวไทย