พรรคก้าวไกล 14 พ.ย.- “ก้าวไกล” ยันมีเป้าหมายทำ รธน.ใหม่สำเร็จ เสนอ 3 ประเด็น ทำประชามติ 3 ครั้ง ถามยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. หรือไม่ พร้อมเสนอแก้เกณฑ์เสียงโหวตประชามติ
คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธาน นำคณะเข้าพบพรรคก้าวไกล โดยมีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ให้การต้อนรับ
นายชัยธวัช กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นไปได้ด้วยดี เข้าใจเจตนาและเนื้อหาซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในวันนี้คงจะมีประโยชน์พอสมควรกับการทำงานของอนุกรรมการและกรรมการชุดใหญ่ โดยพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอใน 3 ประเด็น คือ ควรทำประชามติ 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลัง เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยครั้งแรกเห็นว่า ควรจะทำประชามติก่อนที่สภาฯ จะมีกระบวนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า เพื่อทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ที่หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรจะต้องถามประชาชนหรือไม่ และการทำประชามติตั้งแต่แรกจะเป็นกลไกสำคัญที่จะสามารถหาข้อยุติในความเห็นที่แตกต่างกันได้ในกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น และจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญมีความราบรื่นและประสบความสำเร็จ
นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคเห็นควรทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเมื่อมีความกังวลและมีความเห็นที่ยังแตกต่างกัน ทั้งจากฝั่งรัฐบาล สว. ประชาชน และหลายฝ่ายในบางประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความคิดเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะจัดทำจะแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ หรือควรจะล็อกไว้ไม่ให้มีการแก้ไข รวมถึง ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดหรือไม่ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งใหม่กลายเป็นวิธีสำคัญที่ทำให้เราหาฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทยได้ คลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีได้ ก็ควรจะออกแบบคำถาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น โดยที่ไม่ทำให้มีใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น และสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เกิดการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในที่สุด แม้แต่ละฝ่ายไม่สามารถที่จะผลักดันเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามต้องการทั้งหมด
“พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า ควรจะออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลักหนึ่งคำถามว่า เห็นชอบหรือไม่ว่าควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. และมีคำถามพ่วง 2 คำถาม เห็นด้วยหรือไม่ที่จะไม่ให้แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 โดยคงไว้เหมือนเดิม และเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด ซึ่งคำถามเหล่านี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผล” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ข้อเสนออีกประเด็น คือ เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เมื่อบางฝ่ายยังกังวลเรื่องการใช้สิทธิ 2 ครั้ง อาจจะเป็นอุปสรรค จึงเห็นว่าควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ อย่างเร่งด่วน เพื่อยกเลิกเงื่อนไขเหล่านี้ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่ของรัฐบาลน่าจะหาข้อยุติในประเด็นนี้ให้ได้ก่อน ซึ่งหากได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล สามารถร่วมมือกันแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ได้ทันทีที่สภาฯ เปิดสมัยประชุม ทั้งนี้ ยืนยันว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลวางอยู่บนเป้าหมายที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จและทำได้จริง
ด้านนายนิกร กล่าวว่า การพูดคุยมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี และมีความเห็นตรงกันที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่ง 3 ข้อที่มีการเสนอมานั้น ในข้อแรกสอดคล้องกับคณะกรรมการที่เห็นว่า จะต้องทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ข้อเสนอในเรื่องคำถามการทำประชามติ หากถามประชาชนควรจะต้องกระชับ เข้าใจง่าย และรัฐบาลได้มีคำแถลงต่อรัฐสภาและมีมติของ ครม.ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีการแก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องนำกลับไปพูดคุยกัน ส่วนเรื่องที่มาของ ส.ส.ร. ที่คณะอนุกรรมการสรุปคือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ที่พรรคก้าวไกลเสนอว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ซึ่งต้องไปคุยกันในรายละเอียด เพราะอนุกรรมการมองว่า ควรจะมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมใน ส.ส.ร. โดยคณะกรรมการชุดใหญ่จะเป็นผู้ตัดสิน
ส่วนประเด็นที่เห็นตรงกัน แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อยเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ระบุว่า การออกเสียงประชามติต้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องมี 26 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิ 52 ล้านคน และต้องมีเสียงที่เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่ง ตรงนี้เป็นประเด็นที่มองว่าจะต้องแก้ไข ซึ่งต้องคุยในรายละเอียด หากทำได้ จะได้กฎหมายดีๆ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประชามติ ซึ่งก็จะไปคุยและกลับไปเสนอกับทางรัฐบาล ทั้งนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า จะทำให้ได้จริง ซึ่งถ้าเป้าหมายตรงกันเช่นนี้ ก็เชื่อว่าน่าจะประสบความสำเร็จ.-สำนักข่าวไทย