กระทรวงสาธารณสุข 13 พ.ย.-รมต.สร.จับมือ สธ.เดินหน้าดูแลสิทธิรักษาพยาบาลพระสงฆ์ ประสาน มท. เตรียม Kick off ระบบฐานข้อมูลพระครอบคลุม ทัน 5 ธ.ค.นี้
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมนายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือกรณีพระคิลานุปัฏฐาก พระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด หรือ พระ อสว. รวมถึงการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์อาพาธ
นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า การได้มาพูดคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ (13 พ.ย.) นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคณะสงฆ์ และถือเป็นครั้งแรกที่ พศ. และกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แม้เบื้องหลังจะมีการประสานงานอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า จากจำนวนพระสงฆ์กว่า 200,000 รูปทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 100,000 รูป ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิ ทำให้การรับการรักษากับสถานพยาบาลเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากการสืบค้นข้อมูลว่าเป็นพระจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลา จึงอยากขอความร่วมมือพระภิกษุสงฆ์ทำบัตรประชาชน เพื่อใช้ในการตรวจสอบสิทธิกรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
“พศ. มีแผนการดำเนินงานเร่งด่วนในการจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) พระภิกษุสงฆ์ โดยมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้น ทั้งสมณศักดิ์ วิทยฐานะทางการศึกษา และตำแหน่งปกครอง เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและสืบค้นว่าพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวเป็นพระจริงหรือไม่ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ช่วยดูแลด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ ซึ่งทาง พศ. ตั้งเป้าจะเริ่มใช้งาน Big Data วันที่ 5 ธันวาคม 2566 เป็นวันแรก” นางพวงเพ็ชร กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รายงานว่า ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจำนวน 288,956 รูป อาพาธทั่วประเทศประมาณ 10,000 รูป ซึ่งบางรูปไม่ได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานของ สปสช. บางรูปไม่มีผู้ดูแล พศ. จึงจัดทำโครงการในการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ ประกอบด้วย โครงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ (โครงการเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา) งบประมาณ 5 ล้านบาท โครงการกุฏิสงฆ์อาพาธร่วมกับโรงพยาบาลสงฆ์ โดยจัดให้มีพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด นอกจากนี้ พศ. ยังสร้างกลไกความร่วมมือในการจัดบริการดูแลพระสงฆ์ ทำสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ตามข้อกำหนดของ สปสช.-สำนักข่าวไทย