ทำเนียบฯ 28 ต.ค. – โฆษกรัฐบาล แจงทางเลือกแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ยืนยันรัฐบาลยึดมั่นแนวทางประชาธิปไตย รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เห็นต่างอย่างรอบด้าน พร้อมพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบ
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากกรณีที่มีกระแสโจมตีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อันเนื่องมาจากนายจุลพันธ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้นำข้อสรุปจากการประชุมครั้งล่าสุดของคณะอนุกรรมการดังกล่าวออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอทางเลือกอื่นๆ อีก 3 ทางเลือก ในการแจกเงิน 10,000 บาท จากทางเลือกเดิมที่กำหนดให้แจกแบบถ้วนหน้าทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนราวๆ 56 ล้านคน เป็นเงินที่ต้องใช้รวม 560,000 ล้านบาท ขอชี้แจงว่า ทางเลือกที่เสนอมาใหม่ทั้ง 3 ข้อนั้น ไม่ใช่เป็นความเห็นหรือข้อเสนอส่วนตัวของนายจุลพันธ์แต่อย่างใด นายจุลพันธ์เพียงเป็นผู้รวบรวมมติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำไปเสนอต่อบอร์ดใหญ่ คือ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เท่านั้น เหตุไฉนจึงมีคนจับประเด็นคลาดเคลื่อน แล้วพยายามปั่นกระแสเป็นทำนองว่า นายจุลพันธ์พยายามจะหาทางบิดพลิ้วไปจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท แบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ เมื่อทางเลือกทั้ง 3 ข้อ ถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่แล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าที่ประชุมใหญ่จะเห็นด้วยกับทางเลือกข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ หรืออาจจะยังคงยืนยันในทางเลือกเดิม คือ แจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท ก็เป็นได้ ดังนั้น จะต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อน
“ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เห็นต่างอย่างรอบด้าน และพร้อมพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบ ด้วยกลไกการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ได้มติสุดท้ายออกมาจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก็ควรจะถือว่าเป็นข้อยุติ โดยรัฐบาลจะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ออกมา” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
อนึ่ง 3 ทางเลือกที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอนั้น มีดังนี้
1) ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 150,000-160,000 ล้านบาท
2) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/เดือน จำนวน 43 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท
3) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท/เดือน จำนวน 49 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย