รัฐสภา 12 ต.ค.-“ประเสริฐ” รับปากพัฒนาระบบเตือนภัยแห่งชาติ ให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่งข้อความผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร มือถือ-โทรทัศน์-วิทยุ ใช้งบกองทุน กสทช. ไม่เกิน 500 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาญัตติกระทู้ถามสดด้วยวาจา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงระบบแจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ว่าจะใช้เวลาและงบประมาณในการดำเนินการเท่าใด เนื่องจากภัยพิบัติที่ผ่านมาในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ เช่น เหตุสึนามิ หรือเหตุการณ์กราดยิง ถือเป็นภัยความมั่นคงร้ายแรง ที่ควรแจ้งเตือนให้ประชาชนทุกคนทราบตรงกัน อีกทั้งภัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องแจ้งเตือนให้ประชาชน
“รัฐบาลต้องมีระบบศูนย์กลางที่เหมาะสม คือเหมาะกับเวลาเกิดเหตุ แจ้งเตือนได้ปัจจุบันทันด่วน และเหมาะกับระดับสถานการณ์ แจ้งเตือนอย่างเฉพาะเจาะจงตามพื้นที่ และเหมาะสมในรูปแบบ ทั้งระบบสั่นในโทรศัพท์มือถือ หรือตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่แจ้งเตือนทางโทรทัศน์เมื่อมีพายุ ที่เรียกว่า IPAWS ซึ่งรองรับทุกช่องทางการสื่อสาร” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ด้านประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีคณะกรรมการระดับชาติบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงดีอี เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย เรื่องของระบบ Cell Broadcast ในรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ทันเริ่มลงมือทำ
“หลังเหตุความรุนแรงที่สยามพารากอน ยิ่งเห็นความจำเป็นต้องสานต่อนโยบายให้มีระบบเตือนภัยที่มั่นคง ในระบบ Location Service ผ่านข้อความ SMS ได้มีการทดสอบระบบมาแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ใหญ่ และได้ผลดี ส่วนเรื่อง Cell Broadcast ได้พูดคุยกับ กสทช. คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือ หรือโทรทัศน์ วิทยุ” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับระยะยาว รัฐบาลมีความตั้งใจจะพัฒนาระบบ Cell Broadcast เป็นระบบ Push Notification ที่สามารถส่งข้อความ 1,000 ตัวอักษรไปยังโทรศัพท์มือถือ ที่แม้จะปิดเครื่องอยู่ก็จะได้รับการแจ้งเตือน โดยเป็นระบบที่ใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน พร้อมยืนยันว่า หากพัฒนาระบบจนสมบูรณ์แล้ว จะสามารถรองรับได้ทุกช่องทางการสื่อสาร และจะทุ่มเททำงานให้ภารกิจนี้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างแน่นอน
ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการ ได้หารือกับ กสทช. เบื้องต้นแล้ว ว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุน กสทช. และโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 หน่วยงานหลักยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ขณะนี้ยังไม่ได้ประมาณวงเงินงบประมาณที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และไม่เกิน 500 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย