พรรคก้าวไกล 19 ก.ย. – “ชัยธวัช” แนะ “เศรษฐา” ควรระวังหากนำคนมีประวัติ นั่งที่ปรึกษาฯ อาจสะเทือนถึงความเชื่อมั่นนายกฯ มอง ปมแก้ รธน. ถูกสังคมตั้งคำถาม ไม่เหมือนที่หาเสียง
นายชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่ปรึกษา 9 คน ที่มีปรากฏรายชื่อของนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความครอบครัวชินวัตร และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เคยถูกสั่งฟ้องคดีข้าวบูล็อก ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมีความระมัดระวังในการที่นำคนที่มีประวัติ ที่อาจจะถูกตั้งคำถามในแง่ของความซื่อสัตย์สุจริตมาร่วมทำงาน ซึ่งการมีทีมงานที่มีประวัติไม่ดี อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีได้ แม้มองว่าคดีความได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ในทางการเมือง ความคิด และความรู้สึกของสาธารณะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับกรณีที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ได้ออกมาระบุว่า รัฐบาลชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลายเรื่องต้องใช้เวลานั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนสองเรื่อง หนึ่ง รัฐบาลคงต้องเข้าใจว่าในตอนนี้พรรคเพื่อไทย ในฐานะเป็นแกนนำรัฐบาลมีความชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะมีแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ซึ่งก็เคยมีการแถลงด้วยในตอนที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งรัฐบาล มีข้อหนึ่งที่ระบุว่า ภารกิจของรัฐบาลคือเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้งยังมีการพูดถึงว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกจะมีวาระเรื่องการลงประชามติ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าเป็นแค่คำสั่งให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปตั้งคณะกรรมการศึกษา แน่นอนว่าสังคมดูคาดหวังว่าทำไมไม่เหมือนกับที่เคยกล่าวไว้
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า สอง มีคำถามว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจะเป็นการเตะถ่วงเวลา หรือเปิดช่องเพื่อไม่ให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ซึ่งเข้าใจได้ว่าสังคมกังวล อีกทั้งยังมีคำถามว่า จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการนี้อีกหรือไม่ อย่างในสภาสมัยที่แล้ว ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว ตนเองก็ได้นั่งอยู่ในกรรมาธิการชุดนั้นด้วย มีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองรวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ ในขณะนั้น ได้เป็นประธานใน กมธ. ชุดนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ ในข้อสรุปของ กมธ. นอกจากจะศึกษาในรายละเอียดและเนื้อหาที่ควรจะมีการจัดทำใหม่แล้ว ก็ยังมีการเสนอว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และให้มีการทำประชามติ เพราะฉะนั้นจึงแทบจะไม่มีอะไรให้ศึกษาใหม่แล้ว เพราะมีผลการศึกษาที่ชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลคงต้องเข้าใจว่าทำไมสังคมถึงมีคำถาม ในความไม่ชัดเจน.-สำนักข่าวไทย