3 ก.ย.-กรณีอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชทานอภัยลดโทษ จากทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี ล่าสุดมีกระแสข่าวระบุ ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณา “การพักโทษ” ในขั้นตอนต่อไป
มีรายงานจากกระทรวงยุติธรรม ระบุความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณา “การพักโทษ” ของ นายทักษิณ ของคดีเดิมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ คดีที่ 1 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี คดีที่ 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี โดยให้นับโทษสูงสุดแทน และคดีที่ 3 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดโทษจำคุก 5 ปี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี
เมื่อมีพระราชทานอภัยลดโทษรวมมาจึงเหลือเพียงปีเดียว เท่ากับนายทักษิณเหลือโทษจำคุกเพียง 1 ปี จากนั้นอาจจะต้องไปดูในเรื่องของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุกและการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 แต่แน่นอนว่าในกรณีของนายทักษิณ เนื่องด้วยเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเกณฑ์ที่ 1 ปี มีการปรับ 3 ครั้ง สำหรับโทษไม่เกิน 3 ปี
ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ทำให้นายทักษิณ จากที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง จึงถูกปรับเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเรือนจำฯ ในเดือนกันยายน ก็จะทำให้ต้องไปได้รับการปรับชั้นนักโทษในเดือนธันวาคม
โดยประเด็นที่มีการกล่าวถึง เรื่องของการพระราชทานอภัยโทษตามวันสำคัญต่างๆ ทั้งวันพ่อหรือวันแม่ เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่าในวันสำคัญต่างๆ นั้น จะมีการพระราชทานอภัยโทษ หรือพระราชทานอภัยลดโทษหรือไม่เป็นเรื่องพระราชอำนาจมิอาจก้าวล่วงได้
อย่างไรก็ตาม จะมีเรื่องเกณฑ์อายุของผู้ต้องขัง เช่น กรณีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย พ่วงด้วยโรคอาการเจ็บป่วย จะมีในส่วนของการได้รับการพิจารณาพักโทษ ซึ่งทางเรือนจำทัณฑสถาน โดยผู้บัญชาการเรือนจำจะดำเนินการตรวจดูเรื่องหลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดีรายใดเข้าเกณฑ์พักโทษ และรายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการ พิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ท้ายสุดจึงจะมีการแจ้งให้ผู้ต้องขังรับทราบ
ที่ผ่านมาก็มีบุคคลมีชื่อเสียงหลายรายที่ได้รับการพักโทษและออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก เพียงแต่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติ เช่น กรณีของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย กรณีของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น อีกทั้งบางรายอาจจะมีการติดกำไลอีเอ็มสักระยะ แต่หากคณะกรรมการเห็นว่ามารายงานตัวปกติ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะอนุญาตปลดกำไลอีเอ็ม
โดยถือเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้เข้าเกณฑ์การพักโทษ เช่น การเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ไม่เคยประพฤติผิดวินัย หรือขณะที่อยู่ในเรือนจำมีความประพฤติดี ซึ่งเรือนจำฯ ก็จะมีการเสนอแจ้งไปยังผู้ต้องขังว่าเข้าเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ระหว่างการพักโทษ ผู้ต้องขังจะอยู่พื้นที่ใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีเงื่อนไข คือ ห้ามก่อคดี ห้ามกระทำความผิดระหว่างการคุมประพฤติ ทำให้ในกรณีของนายทักษิณ ทางคณะกรรมการอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเช่นกัน ส่วนเรื่องจำกัดรัศมีกิโลเมตรนั้น แล้วแต่รายบุคคล เพราะบางรายอาจจะถูกเงื่อนไขจำกัดได้แค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนถ้าจะไปต่างจังหวัดก็ต้องดำเนินการแจ้งขออนุญาต อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะเป็นความรับผิดชอบของหน้างานกรมคุมประพฤติ และเมื่อจบกระบวนการพักโทษ จึงค่อยดำเนินการรายงานต่อศาล แล้วเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวตามวันเวลา เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว.-สำนักข่าวไทย