นิด้า 19 ส.ค.- นักวิชาการ คาดเพื่อไทยคุมกระทรวงเศรษฐกิจ “คลัง-มท.-คมนาคม” แต่ต้องสละ “ก.สธ.-ก.ท่องเที่ยว” ให้ “ภูมิใจไทย” ส่วน”รวมไทยสร้างชาติ” นั่ง ก.พลังงาน มองแคนดิเดตนายกฯ อาจเป็น “แพทองธาร” หาก “เศรษฐา” ถูก “ชูวิทย์” แฉ รอดู 21ส.ค.
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวถึงการจัดสรรเก้าอี้คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า การจัดสรรตามโควตา และความสามารถในการต่อรอง ซึ่งโดยหลักแล้วพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องมีเก้าอี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม แต่ภายใต้สถานการณ์พิเศษบางอย่างอาจทำให้พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลอยากได้เก้าอี้รัฐมนตรีบางเก้าอี้ตามความ ถนัดหรือความต้องการ เช่น ความต้องการกระทรวงกลาโหม และอาจเป็นไปได้ว่าพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอาจยอมสละเก้าอี้นี้จัดสรรให้ไป
รศ.ดร.พิชาย ยังกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมองว่า ตัวเองมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ถ้าต้องการทำภารกิจนี้ให้บรรลุก็ต้องคุมกระทรวงเศรษฐกิจหลักเอาไว้ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โดยกระทรวงเหล่านี้ถูกมองจากพรรคการเมืองแบบเก่าว่าเป็นกระทรวง เกรด A ทำให้มีการแย่งชิงกัน เช่น กระทรวงคมนาคม ที่พรรคภูมิใจไทยเคยคุมก็อาจอยากสานต่อ แต่เท่าที่ดูตอนนี้พรรคภูมิใจไทยน่าจะยอมให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะกระทรวงคมนาคม แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เคยประกาศเอาไว้ว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นผู้ดูแล จึงอาจมีการต่อรองกระทรวงที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับพรรคภูมิใจไทย
ส่วนอีกหนึ่งกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยน่าจะอยากดูแล คือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสานต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ พรรคภูมิใจไทยน่าจะยังอยากคุมกระทรวงนี้ต่อ เนื่องจากต้องการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา จึงมองว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะต่อรองเพื่อให้ได้คุมกระทรวงนี้ต่อไป
เช่นเดียวกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่พรรคภูมิใจไทยจะต่อรองนั่งกระทรวงนี้ด้วย เพื่อให้แกนนำคนสำคัญของพรรคในพื้นที่ภาคใต้
“หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า กระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจ 2 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยอาจไม่ราบรื่นเท่าที่ควร”
สำหรับกระทรวงที่มีข่าวว่าแย่งชิงกันอย่างมากนั้นก็คือกระทรวงพลังงาน เพราะเดิมทีอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเขามีผู้สนับสนุนหลักด้านทุนพลังงาน จึงน่าจะอยากได้กระทรวงนี้มาครองต่อ และพรรคเพื่อไทยก็อยากได้กระทรวงนี้ แต่หลังจากที่พรรครวมไทยสร้างชาติประกาศชัดเจนว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยก็มีความเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยยอมให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ดูแลกระทรวงนี้ต่อ
เมื่อถามว่าสัดส่วนการมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ รศ.ดร.พิชาย ประเมินว่าน่าจะมีการคุยกันลงตัวแล้วก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าคุยกันไม่ลงตัวก็คงไม่มีพรรคใดประกาศที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ ถึงแม้ว่าบรรดาแกนนำพรรคจะออกมาระบุว่าไม่เกี่ยวกับการต่อรองตำแหน่ง แต่ในมิติการเมืองคงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าจะมีการตกลงกันระดับหนึ่ง แต่คงไม่ใช่ความแน่นอน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เพียงแต่การตกลงเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่ง จึงนำไปสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ขณะที่ความขัดแย้งก็อาจมีขึ้นได้บ้างภายหลังการต่อรอง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้
ส่วนกระแสภายในของพรรคเพื่อไทย จะมีการสั่นไหวหรือไม่ เพราะมีบางกลุ่มที่มีกระแสข่าวการต่อรองตำแหน่งเกิดขึ้น รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่าในกลุ่มย่อยๆ ของแต่ละพรรคก็มีกันอยู่ ว่าต้องการจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอะไรบ้าง อย่างพรรคเพื่อไทยก็มี ซึ่งต้องเป็นเรื่องของความสามารถของแกนนำพรรคว่าจะจัดการอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดความแตกแยกขึ้นมาก่อนจัดตั้งรัฐบาล สิ่งสำคัญคือต้องประคับประคองสถานการณ์ให้นิ่งก่อนจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. และไม่ใช่เพียงแต่พรรคเพื่อไทย เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติเองก็มีหลายกลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มก็อยากได้ตำแหน่งทั้งนั้น ถึงที่สุดแล้วก็น่าจะหาข้อยุติกันได้
เมื่อถามถึงการประกาศกลับประเทศไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นั้น รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า หากจะเชื่อมโยงกับเรื่องการประกาศกลับไทยของนายทักษิณ กับการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่จะทำให้เป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันว่าในวันที่ 22 ส.ค.นี้ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสที่จะได้รับเลือก เพียงแต่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศออกมาว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน และหลายพรรคการเมืองให้การยอมรับ แต่ติดปัญหาที่ สว.จำนวนหนึ่ง ที่ตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติ จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉ ทำให้ไม่แน่ใจว่าในวันที่ 22 ส.ค. จะเป็นนายเศรษฐาหรือ แต่ถ้าจะให้มั่นใจก็ต้องรอดูวันที่ 21 ส.ค. ที่นายชูวิทย์ จะออกมาแถลงข่าวว่า จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อความคิดของ สว. ได้มากน้อยขนาดไหน พร้อมมองว่าแกนนำของพรรคเพื่อไทยคงจะมีการประเมินกันก่อนอีกครั้งในวันที่ 21 ส.ค. ถ้าประเมินว่านายเศรษฐา ยังพอไปได้ก็จะเสนอชื่อ แต่ถ้ามีแรงต้านเยอะ ก็อาจนำเสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งโอกาสที่จะได้รับเลือกก็มีสูงกว่านายเศรษฐา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นบุตรสาวของนายทักษิณ แม้จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีบารมีในพรรคเพื่อไทย รวมถึงความนิยมของ น.ส.แพทองธาร ในช่วงเลือกตั้งก็มีสูง ดังนั้นก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี.-สำนักข่าวไทย