กทม. 18 ส.ค.-“สุชาติ” รมว.แรงงาน เผยนายกฯ ห่วงใยลูกจ้างกรณีหัวหน้างานไม่อนุญาตให้ลางานไปดูแลแม่ที่ป่วยหนัก สุดท้ายแม่เสียชีวิต กำชับ ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มจากทั้งสองฝ่าย พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกจ้างทุกมิติ
วันที่ 18 สิงหาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีลูกจ้างถูกหัวหน้างานในสถานประกอบกิจการ จ.นครราชสีมา ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิลาไปดูแลแม่ที่ป่วยหนัก สุดท้ายแม่เสียชีวิต นั้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยลูกจ้างผ่านมายังตน พร้อมสั่งให้กระทรวงแรงงานเร่งเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกจ้างในทุกมิติ ล่าสุดได้รับรายงานเพิ่มจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่า วันนี้ (18 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ผู้แทนนายจ้างได้มาพบพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา โดยให้ข้อเท็จจริงว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ไม่เกิน 3 วันทำงานใน 1 ปีปฏิทิน โดยได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ ยังสามารถลาเพื่อไปร่วมงานศพของพ่อ แม่ บุตร ธิดา สามีและภรรยาของพนักงาน ได้อีกไม่เกิน 3 วันติดต่อกัน โดยได้รับค่าจ้างด้วย นายจ้างยืนยันว่าไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายจ้างได้ส่งผู้แทนไปร่วมงานศพของแม่ลูกจ้าง และได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบว่านายจ้างยังไม่ได้อนุมัติการลาออกรวมทั้งไม่ได้เลิกจ้าง หลังจากจัดงานศพเสร็จสิ้นแล้วขอให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ และในวันนี้ผู้จัดการทั่วไปได้ไปร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ ณ สถานที่จัดงานศพ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือในการเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม และเงินช่วยเหลือกรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต รวมเป็นเงิน 13,000 บาท สำหรับคู่กรณีทางนายจ้างได้สั่งให้หยุดปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตามตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานอาทิ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และกรมการจัดหางาน ร่วมกันดำเนินการช่วยเหลือให้คำแนะนำทั้งสองฝ่ายตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มว่า กสร.ขอเน้นย้ำไปยังนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการ รวมถึงลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับทั้งสองฝ่าย ซึ่งเคสนี้ถือเป็นกรณีศึกษาให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับทราบถึงสิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่ายชัดเจนขึ้น หากนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ กลุ่มงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2660 2071 หรือสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546.-สำนักข่าวไทย