พรรคก้าวไกล 15 ก.ค.- “ชัยธวัช” ยืนยัน เสนอ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบสอง บอกเป็นหน้าที่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จับมือให้แน่น ป้องกันรัฐบาลเสียงข้างน้อย ชี้ เสนอแก้ ม.272 อาจเป็นทางออกให้ ส.ว. สบายใจ
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงผลการหารือร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) ว่า พรรคก้าวไกล ได้ยืนยันว่า จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อีกครั้งในการประชุมสภา วันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะนำไปหารือ ซึ่งการพูดคุยเมื่อวานนี้ มีหลายเรื่อง เช่น หาแนวทางป้องกัน เพราะมีกระแสข่าวว่า ส.ว.บางคน พยายามเสนอให้มีการตีความข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะสามารถทำซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า ไม่สามารถตีความข้อบังคับเหล่านั้นได้ เพราะข้อบังคับนั้นมีไว้ใช้สำหรับญัตติทั่วไปเท่านั้น แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ว่า หากไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต หรือที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเสียงข้างน้อยมาแข่ง รวมทั้งยังพูดคุยถึงการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นด้วย
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อแข่งกับนายพิธา นายชัยธวัช ยอมรับว่า มีการหารือกรณีนี้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นภารกิจของทั้ง 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อไม่ให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม เพื่อประสานงาน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
เมื่อถามต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในสัปดาห์หน้า จะกระทบต่อการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าว ว่า ไม่ได้คุยเรื่องดังกล่าว เราเข้าใจดีอยู่แล้วว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างเมื่อตอนปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังสามารถเสนอชื่อและโหวตในสภาได้ตามปกติ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน ไม่ว่าใครก็ตามที่มีข้อกล่าวหา เราก็ต้องถือหลักสันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. นายชัยธวัช ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดข้อง เพราะที่ผ่านมาเคยผลักดันเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง ส่วนระยะเวลาจะทันหรือไม่ เพราะอาจต้องใช้ระยะเวลากว่า 4 เดือนถึงจะแก้ไข ม.272 สำเร็จ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ต้องเข้าใจว่า เป็นข้อเสนอที่เป็นทางเลือก คู่ขนานไปกับกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่รู้ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเลือกอีกกี่ครั้ง ถ้าหากโหวต 3-4 ครั้ง ก็ใช้ระยะเวลาเป็นเดือนแล้ว จึงเสนอทางออกว่า ถ้าหากส.ว.เองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ์ หรือประสงค์จะงดออกเสียง หรือจะไม่เข้าประชุม กรณีแบบนี้จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง และถ้าหากสามารถนัดประชุมได้เร็ว ซึ่งถือเป็นอำนาจของประธานสภา หากผ่านวาระ 1 ได้ ถ้าหากเร่งรีบจริง ก็จะใช้ระเวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็แล้วเสร็จ
เมื่อถามว่า ในวาระ 1 ต้องใช้เสียงส.ว. 84 เสียง นายชัยธวัช กล่าวว่า ในอดีตมีส.ว.ที่เคยโหวตให้ปิดสวิตช์ ส.ว. 60 กว่าคน และมีส.ว.โหวตให้นายพิธา อีก 10 กว่าคน หรือบางคนที่ไม่ได้มาร่วมประชุม หรือตั้งใจจะไม่ใช้สิทธิ์ใช้เสียง ทางนี้ก็อาจจะเป็นทางที่ส.ว.สบายใจ โดยไม่ต้องลงเสียงที่ขัดต่อความคิด ขณะเดียวกันก็ไม่ไปขัดขวางผลการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อว่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง และเป็นทางเลือกในอีกทางหนึ่งทางการเมืองที่ทำคู่ขนานไปได้
เมื่อถามต่อว่า ทีมเจรจานอกจากจะขอเสียงส.ว.ในการโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังขอเสนอ ส.ว.ในการโหวตเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช ตอบว่า ก็สามารถเจรจาควบคู่กันไปได้
ส่วนกรณีที่พล.ต.อ.เสรุพิสุทธ์ เตมียเวศ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุเงื่อนไข พร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกพรรค ยกเว้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นสัญญาณแตกแถว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งตีความแบบนั้น เพราะใน 8 พรรคร่วม ก็จะต้องมีการพูดคุย และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ อาจจะมีข้อเสนอใหม่ๆเข้ามา เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ย้ำว่า ทุกข้อเสนอ และทุกความคิดเห็น สามารถนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ .-สำนักข่าวไทย