กทม. 15 ก.ค.- รองโฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลยกระดับจริยธรรมภาครัฐ หนุนเกณฑ์กำหนดแนวทางและมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมยกระดับจริยธรรมภาครัฐ โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันกฎหมายสำคัญให้มีผลบังคับใช้คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคลากรรัฐและองค์กรที่มีหน้าที่ ต้องดำเนินการออกประมวลจริยธรรม วางแนวปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม
โดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่ได้ดำเนินการออกประมวลจริยธรรมไปแล้ว ได้แก่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง, สภากลาโหมจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน(กพม.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรมฯ เป็นไปอย่างครบถ้วน ล่าสุดคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ได้อนุมัติแนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ก.ม.จ. ได้เวียนหนังสือแจ้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลภาครัฐดำเนินการกำหนดมาตรการตามแนวทางที่ ก.ม.จ.กำหนดแล้ว พร้อมกับได้แจ้งการดำเนินการให้ ครม. ทราบเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา
แนวทางฯ ที่ ก.ม.จ. กำหนดนั้น ได้ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่ ต้องกำหนดกระบวนการพิจารณาและดำเนินการเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือหากเดิมได้กำหนดกระบวนการพิจารณาอยู่แล้วก็ให้ปรับให้ให้สอดคล้องกับแนวทางล่าสุดของ ก.ม.จ.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับกระบวนพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นจะต้องประกอบด้วยการดำเนินการอย่างน้อย ดังนี้
- 1) พิจารณาเรื่องร้องเรียนซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเบื้องต้นที่เพียงพอ กำหนดการให้ความคุ้มครองบุคคลที่ให้ข้อมูลไว้เป็นพยาน
- 2) มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ
- 3) กำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน
ส่วนขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีดังนี้
- 1) ให้ส่วนงาน คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายพิจารณาเรื่องร้องเรียนและรายงานต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับเรื่อง หากเป็นกรณีหัวหน้าหน่วยงานรัฐถูกกล่าวหาให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปจากหัวหน้าหน่วยงาน
- 2)ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป พิจารณาข้อเท็จจริงสั่งการเพื่อดำเนินการ (รวมทั้งสั่งลงโทษหากมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และแจ้งให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว
- 3) ดำเนินการบันทึกพฤติกรรมการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น
- 4) หน่วยงานรัฐรายงานการดำเนินการต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม
- 5) องค์กรกลางบริงานงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม รายงานต่อ ก.ม.จ.
- 6) ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยรายงานการดำเนินงานต่อสาธารณะด้วย .-สำนักข่าวไทย