กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – “พ.ต.อ.ทวี” ชี้ชัดต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การทำประชามติใดๆ ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงประเด็นที่สังคมมีการพูดถึงกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จำลองการลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการทำประชามติให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิทธิในการปกครองตนเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหนังสือเชิญไปยังลูกพรรค พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เขาส่งหนังสือเชิญมาที่หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค หนังสือมาวันที่ 25 พฤษภาคม ลงวันที่ 23 พฤษภาคม ระบุว่าจะจัดงานวันที่ 7 มิถุนายน เราเห็นว่าเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงมอบหมายให้ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ซึ่งเป็นว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอกสารที่ส่งมามีกำหนดการที่ระบุชื่อนักวิชาการหลายท่าน เช่น อ.มาร์ค ตามไท ต้องยอมรับว่าในเวทีปาฐกถาต่างๆ ที่เป็นระหว่างประเทศ สันติภาพ ให้ความยอมรับท่าน ในยุครัฐบาลทหารก่อนๆ ก็ให้ท่านเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการ จึงมอบหมายให้มีตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นวิทยากรด้วย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยนักศึกษา ต้องยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพทางความคิด การพิมพ์ การเขียน การโฆษณา หรือสื่อ เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะจำกัดสิทธิตรงนี้ต้องมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการแสดงความเห็นของนักศึกษา ในรัฐธรรมนูญก็มีเขียนไว้ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ในหนังสือที่เชิญมาเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญมากกับการแสดงความคิดเห็น หากคณะรัฐมนตรีจะทำประชามติความเห็นเรื่องสำคัญๆ จะต้องไม่ทำโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญห้ามอยู่ ส่วนการแสดงความเห็นเป็นกรอบวิธีคิด ในเรื่องการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเราบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่ามีหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่คำว่าเอกราชก็เป็นคำพูดที่กระทบต่อความรู้สึก และความจริงแล้วพรรคประชาชาติได้กำเนิดขึ้นเพื่อจะสร้างเสถียรภาพทางด้านความมั่นคง เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง วันนี้เราไม่มีเสถียรภาพเลย โดยเฉพาะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และพรรคประชาชาติเราต้องการจะสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น เป็นพรรคที่เรียกว่า พหุวัฒนธรรม ผศ.ดร.วรวิทย์ ก็ไปในกรอบนี้ ไปในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งไปพูดเกี่ยวกับระบบเศรษฐฐานคุณธรรม โดยเฉพาะระบบการเงินสหกรณ์ ซึ่งท่านอยากสื่อสารในเรื่องนี้ ถ้าเป็นพี่น้องมุสลิมเข้าสู่ระบบการเงินที่มีดอกเบี้ยก็ไม่ได้อีก .-สำนักข่าวไทย