รัฐสภา 6 มิ.ย. – “เสรี” เผยข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ เกิดจาก ส.ว. ห่วงเกิดวิกฤติเลือกนายกรัฐมนตรี ระบุ รธน. มาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เชื่อไม่มีเจตนาร้าย แต่โอกาสเกิดยากหากพรรคการเมืองไม่สน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนี้ได้พิจารณาข้อเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า เป็นข้อเสนอที่เกิดจากความเป็นห่วงในการแก้ไขวิกฤติปัญหาของเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ปรากฏเป็นข่าว รวมทั้งแนวโน้มนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งอาจถูกต่างชาติเข้ามาแทรกแซง อาจส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจในการบริหารงบประมาณแผ่นดินในกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังประเด็นที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่อาจกระทบกับหมวดหนึ่ง และหมวดสอง เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น ถือเป็นการมองการณ์ไกลของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอ โดยมีความเป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะแตกแยกและไม่สามัคคี โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาร้าย เป็นความหวังดีที่จะเห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนโอกาสที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า ช่วง 18 ปีที่ผ่านมามีการเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และเป็นไปได้ยากเนื่องจากเป็นเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องเหล่านี้ไว้ชัดเจนโดยตรง คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดความปรองดองได้อยู่ในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องของกระบวนการการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยโอกาสที่จะตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่ในมาตรา 272 แต่หากในกระบวนการนี้ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในมาตรา 272 วรรคสอง ได้เสนอทางออกไว้ว่าให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสามารถที่จะยกเลิกกระบวนการปกติที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ได้ ซึ่งการจะยกเลิกดังกล่าวต้องใช้เสียงในรัฐสภาถึง 2 ใน 3 เท่ากับว่าจะต้องเห็นด้วยอย่างน้อย 500 คน ซึ่งในจำนวนนี้ในถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะจำนวนเสียง ส.ว. 250 คน อาจจะไม่เต็มจำนวน และต้องอาศัยเสียงจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากคือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมองว่าหากทั้งสองพรรคไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง มองว่าแต่ถ้าหากพรรคใดพรรคหนึ่งเห็นด้วย โอกาสก็จะได้เสียงถึง 500 ซึ่งสามารถที่จะร่วมกันในการเลือกนายกฯ คนนอกที่อาจอยู่ในบัญชี หรือยกเว้นกระบวนการที่ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ได้ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะเป็นไปได้ต่อเมื่อรัฐสภาร่วมมือกัน ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการร่วมมือร่วมใจเห็นพ้องต้องกันให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมองว่ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องทำงานและบริหารประเทศไปด้วยกัน.-สำนักข่าวไทย