ทำเนียบรัฐบาล 1 มิ.ย.-นักวิชาการ ชี้ถ้า “พิธา” ถือหุ้นสื่อเป็นความผิด มีผลทั้งตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ – การรับรองให้ผู้สมัครส.ส. เพราะกฎหมายเชื่อมโยงกัน มองไม่เห็นทางตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น จะเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลหรือครอบคลุมไปถึงการรับรองส.ส.ของพรรคก้าวไกล ว่า คงไม่มีใครสามารถตอบได้ ต้องย้อนไปว่า เมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตั้งเรื่องเสร็จ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ซึ่งหากมองไปไกลถึงขนาดนั้นแปลว่าเรากำลังมองว่าเมื่อคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคผู้รับรองบรรดาผู้สมัครทั้งหลายขาดตกบกพร่อง หรือทำให้ขาดจากความเป็นผู้สมัครส.ส.หรือ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงต้องมาดูว่าสิ่งที่เราประสงค์จะให้รับรองคุณสมบัติ จะส่งให้หัวหน้าพรรครับรองหรือประสงค์ให้ผู้มีคุณสมบัติเป็นส.ส.หรือผู้มีคุณสมบัติที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีรับรอง
“ถ้าบอกว่าให้หัวหน้าพรรครับรอง สมมุติว่าหัวหน้าพรรคนั้นไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ ทั้งการเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง คำถามคือหัวหน้าพรรคนั้นสามารถรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครได้หรือไม่ ซึ่งต้องไปดูว่าสิ่งที่เราต้องการจากหัวหน้าพรรคคือคุณสมบัติอะไร ถ้าสิ่งที่เราต้องการคือคุณสมบัติส.ส.หรือคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.หรือคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี อันนั้นต้องเอาเกณฑ์มาพิจารณาว่าเมื่อขาดคุณสมบัติของการเป็น ผู้สมัครส.ส.หรือขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคนั้น ย่อมไม่สามารถรับรองบุคคลอื่นได้” นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ อธิบายต่อว่า ถ้าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติและไปรับรองบุคคลอื่นจะมีผล 2 ประการ คือ 1. การรับรองเสียไป 2. บรรดาผู้ถูกรับรองทั้งหมดเสียสถานการณ์เป็นผู้สมัคร หากลากกันไปไกลอย่างนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ บรรดาผู้สมัครของพรรคก้าวไกลทั้งหมดทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อขาดสถานการณ์เป็นผู้สมัครก็จะมีอีก 2 นัย คือ การพิจารณาว่าผู้ใดจะได้รับการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต ผู้ที่ได้ลำดับที่ 2 ส่วนในบัญชีรายชื่อต้องมาเกลี่ยร้อยละกันใหม่กับพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ ส่วนนัยที่ 2 อาจไปไกลถึงขั้นให้ถือว่าผู้สมัครส.ส.ขาดคุณสมบัติการลงสมัครและผ่านการเลือกตั้ง เมื่อได้รับการเลือกตั้งมาจะเกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ก่อให้ผลการเลือกตั้งสิ้นผลไปกลายเป็นโมฆะ ต้องเลือกตั้งกันใหม่ อันนี้เป็นกรณีที่ลากไปไกล ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวนายพิธา
“หากเฉพาะตัวของนายพิธา การพิจารณาจะแคบลงไป ทั้งนี้ เมื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ถูกเอาไปใช้กับผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น หากขาดคุณสมบัตินั้นก็จะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.และขาดจากการถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วรรค 3 ห้ามให้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด รวมถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ มาตรา89 เรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติตามมาตรา 160 ซึ่งมาตรา 160 ก็นำเอามาตรา 98 มาใช้แปลว่ากลับมาที่จุดเดิม” นายเจษฎ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ต้องดูการบรรยายคำฟ้องจึงจะทราบว่าจะมีผลอย่างไรหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า การบรรยายคำฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาให้ครอบคลุมถึงสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ต้องรื้อฟ้องร้องกันใหม่ ต่างจากศาล ปกครองที่เป็นเรื่องเฉพาะหน่วยงาน อาจกำหนดตามคำขอ กรณีศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาในสิ่งที่เกี่ยวข้องกันได้ แต่ไม่ไกลไปจนถึงขั้นคิดเอาเอง
ส่วนการยื่นคำร้องของกกต.ก่อนและหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งจะมีผลต่างกันหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า อาจมีผลต่างกันที่สถานะ แต่การจัดการไม่แตกต่างกัน เช่น ก่อนประกาศเอาสถานะของผู้สมัครและผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หากขาดคุณสมบัติจะพ้นจาก 2 สถานะนี้ และผลที่ตามมาคือไม่ได้เป็นส.ส. ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าเป็นหลังประกาศรับรองผล จะพ้นจากการเป็น ส.ส.และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับไปสู่สถานะเดิม
เมื่อถามถึงแนวคิดของนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายเจษฎ์ กล่าวว่า ไม่ค่อยเข้าใจว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะมองในทิศทางไหน หากมองความเป็นไปได้ การมีรัฐบาลแห่งชาติจะเกิดภายใต้การปฏิวัติรัฐประหาร หรือเกิดจากการเชื่อมโยงของสภาวการณ์ที่เกิดความไม่สงบกับบ้านเมือง หรือเกิดประเด็นว่าไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่รู้จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร หรือหาทางลงไม่ได้ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ กับอีกแบบคือหาทางลงยาก แล้วร่วมกันเป็นรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ (Grand Coalition) อาจผสมกันทั้งหมด กลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติร่วมกันหรือลักษณะของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเสนอกันในลักษณะนั้น ไม่เห็นทางว่าจะไปลงตรงรัฐบาลแห่งชาติได้อย่างไร ท้ายที่สุดอาจจะแปลเพียงแค่ว่ารัฐบาลแห่งชาติคือ ให้บรรดาผู้ที่กำลังจะรวมกันจัดตั้งรัฐบาล คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ ประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนแนวคิดดังกล่าวจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่นั้น หากเป็นเพียงแนวคิดก็อาจจะเกิดแรงกระเพื่อมตะกอนที่นอนก้นอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึงกับเกิดความวุ่นวาย ทางความคิดอาจจะถกกัน แต่ยังไม่กระทบกับกายภาพของบ้านเมือง แต่ถ้าถึงเวลาต้องทำจริง ๆ ก็อาจจะกระทบและทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นและต้องระมัดระวัง” นายเจษฎ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย