นิด้า 17 เม.ย. – นักวิชาการ ชี้ ต้องจับตาผลนิด้าโพลสะท้อน “พิธา-ก้าวไกล” คะแนนนิยมพุ่ง แม้จะยังเป็นรอง “เพื่อไทย” แนะบ้านใหญ่ภาคตะวันออกปรับกลยุทธ์รับมือก้าวไกล เตือนเพื่อไทยปรับแนวทางหาเสียงหลังพบผู้สมัครหลายเขตไม่ลงพื้นที่
นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล กล่าวถึงผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” ที่ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 3-7 เมษายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษาอาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 ว่า คะแนนของ น.ส.แพทองธาร (อิ๊งค์) ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ลดลงมาจากครั้งก่อน ขณะที่คะแนนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล พุ่งขึ้นมา ส่วนคะแนนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ลดลงมา แต่การเพิ่มหรือลดมา 2-3% ไม่มีนัยมากนัก ขณะที่คะแนนของพรรคนั้น อันดับยังไม่เปลี่ยน แต่เปอร์เซ็นต์มีการเปลี่ยนแปลง โดยพรรคเพื่อไทยยังนำมา แต่คะแนนก็ลดลงมา 2% ซึ่งอาจจะมีนัยยะเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ อาจจะส่งผลต่อพรรคได้ แต่พรรคก้าวไกลขึ้นไป 3.8% ซึ่งตนเคยแนะนำพรรคเพื่อไทยว่า ให้กินพรรคก้าวไกลไปทั้งตัว แต่กลับกลายเป็นว่า นอกจากยักษ์จะไม่กินแจ๊คแล้ว แต่กลับโดนแจ๊คเอาไม้มาแซะ ซึ่งใน 3.8%ที่ก้าวไกลได้ขึ้นมานั้น ก็ถือว่า กินเพื่อไทยไปแล้ว 2.5%
ทั้งนี้ หากมองเชิงลึก ก็จะมีคำถามว่า คะแนน น.ส.แพทองธาร หล่นตรงไหน แล้วคะแนนของก้าวไกลเพิ่มขึ้นตรงไหน ซึ่งเมื่อดูกลุ่มประชากรจากอายุ 18-25 ปี จะเป็นของนายพิธา แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร สามารถปั่นกระแสดึงคะแนนตรงนี้เข้ามาที่ตัวเองได้ ทำให้มีคะแนนนำ แต่พอมาครั้งนี้ เปลี่ยนแปลง เพราะ น.ส.แพทองธาร โดนนายพิธาดึงคืนในส่วนกลุ่มอายุ 18-25 ปี แม้กระทั่งตัวพรรคเพื่อไทยในกลุ่มอายุนี้ ก็มีคะแนนลดลง แต่พรรคก้าวไกลกลับเพิ่มขึ้นแบบกินเรียบในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ครึ่งหนึ่งของคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปีเลือกพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มประชากรภาคตะวันออก พรรคเพื่อไทยก็ถูกดึงคะแนนไป ขณะที่พรรคก้าวไกลกลับเพิ่มขึ้น จึงเป็นการส่งสัญญาณให้กับบ้านใหญ่ภาคตะวันออกให้ระมัดระวังตัวเข้าไว้ ให้เตรียมปรับเกมกลยุทธ์ เพราะกระแสพรรคก้าวไกลในภาคตะวันออกโดดเด่นขึ้นมาแบบเห็นได้ชัด อีกทั้งภาคตะวันออกก็เป็นฐานเดิมของพรรคก้าวไกลด้วย ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะกินพรรคก้าวไกลก็ต้องเจาะไปที่กลุ่มเด็ก ซึ่งส่วนตัวไม่มั่นใจว่า เป็นเพราะ น.ส.แพทองธารใกล้กำหนดคลอดแล้วหรือไม่ด้วย เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วยให้ตัวเองมีคะแนนขึ้น ไม่ได้ช่วยให้พรรคมีคะแนนขึ้นเท่าไหร่นัก
ด้านนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การสำรวจครั้งที่ผ่านมา ถ้ารวมเอาคะแนนเพื่อไทยและก้าวไกลจะอยู่ที่ 67% แต่ครั้งนี้ 2 พรรคคะแนนรวม 68.85% โดยมีภาพรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 2% เมื่อเทียบกับฝั่งรัฐบาลที่ลดลงเกือบทุกพรรค ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 1% แสดงว่าพรรคภูมิใจไทยเริ่มเคลื่อนไหวในเขตมากขึ้น แต่พรรคอื่นๆต่างก็ลดลงทั้งสิ้น แสดงว่า มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งยังสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้ในช่วง 3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และสิ่งที่ค่อนข้างโดดเด่นมากคือ พรรคก้าวไกลมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด น่าจะมาจากนโยบายทุกนโยบายเป็นระบบ สื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพ การขึ้นเวทีดีเบตก็มีความโดดเด่นเหนือผู้สมัครพรรคอื่น มีข้อมูลแม่นยำ มีไหวพริบและปฏิภาณอย่างดี ทำให้ก้าวไกลได้รับความนิยมมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่พรรคก้าวไกลก็ยังไม่ถึงจุดพีค ช่วงจุดเปลี่ยนจากอนาคตใหม่นั้น พรรคก้าวไกลเหลือความนิยม 10% กว่า และค่อยๆเพิ่มแบบขั้นบันได ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือ คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล อาจเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งอาจจะบรรลุเป้าหมายที่พรรคตั้งไว้ในส่วนของบัญชีรายชื่อ
นายพิชาย กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ในช่วงที่นิด้าโพลเก็บข้อมูล เป็นช่วงเวลาที่นายเศรษฐาออกมาประกาศนโยบายดิจิทัล 10,000 บาท นั่นแสดงว่า นโยบายดังกล่าวไม่มีผลอะไรกับคะแนนเพื่อไทย และอาจจะส่งผลเชิงลบได้ เพราะมีปัญหาเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติมากมาย เป็นเหตุทำให้คะแนนลดลง นอกจากนี้ คะแนนส่วนที่ลดลงคือ ภาคใต้และภาคตะวันออก ที่คะแนนเพื่อไทยลดลงมาก รวมทั้งภาคเหนือคะแนนก็ลดลง ขณะที่ก้าวไกลในภาคเหนือก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ แสดงว่า ก้าวไกลเริ่มรุกในภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ
ขณะที่นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ปัญหาล่าสุดของพรรคเพื่อไทยต้องรีบอุด เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยหลายเขตไม่ลงพื้นที่ เป็นประเด็นที่แฟนคลับหลายเขตส่งเสียงไปที่พรรคแล้ว ผู้บริหารต้องรีบปรับในส่วนนี้ เพราะการได้เป็นตัวแทนพรรคก็มีแต้มต่อเยอะ แต่แต้มต่อจะไม่เป็นประโยชน์ หากเจ้าตัวไม่ลงพื้นที่ หากไปเทียบกับพรรคภูมิใจไทยเป็นมือวางกลยุทธ์ ถ้าพื้นที่ไหนเป็นจุดอ่อน ก็จะเข้าไปเจาะแน่นอน ส่วนพรรคก้าวไกลเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทุ่มเทและตั้งใจลงพื้นที่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยหลายเขต พบว่า ผู้สมัครไม่ค่อยลงพื้นที่ ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนว่า ถ้าขี้เกียจก็มีคู่แข่งมาขโมยแต้มได้ ไม่ว่าพรรคจะกระแสดีขนาดไหนก็ตาม.-สำนักข่าวไทย