กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – “ภูมิใจไทย” รุกสอนอาชีพออนไลน์ ปั้น 9 ล้านนักธุรกิจดิจิทัล ไม่เน้นแจกเงิน แต่ให้เครื่องมือไปหารายได้ แก้ปัญหาปากท้อง บูมเศรษฐกิจประเทศ หากได้เป็นรัฐบาลอีก 4 ปีฉลุยแน่
ดร.กมล รอดคล้าย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายสร้างนักธุรกิจดิจิทัล ของพรรคภูมิใจไทย ว่า วันนี้ปัญหาของคนไทย และคนทั้งโลกคือ ปัญหาเรื่องปากท้อง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และเรื่องของอาชีพ เพราะว่าสถานการณ์ปัญหาจากโควิด-19 ที่สืบเนื่องมา รวมไปถึงว่าภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิต และการสร้างรายได้ของพี่น้องประชาชน
พรรคภูมิใจไทย มีหลักคิดว่า เราไม่ได้แจกเงิน ไม่ได้ให้ปลาแก่ชาวบ้าน แต่เราจะให้เครื่องมือ ให้เขาไปจับปลา ให้เครื่องมือให้เขาไปหารายได้ โดยการสร้างนักธุรกิจดิจิทัล ใช้ระบบออนไลน์เข้ามาผสมผสาน ที่เป็นการสร้างนักธุรกิจดิจิทัลโดยใช้เงินลงทุนไม่มาก และเป็นอาชีพที่สามารถที่จะแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วประเทศ
ดร.กมล กล่าวต่อว่า ช่วงที่ พรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐบาลที่ผ่านมา เราทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จมาแล้ว โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ดูแลงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวมไปถึงการศึกษาอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราได้ทำโครงการ กศน. WOW ที่ทำให้ศูนย์ กศน.ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด มีสิ่งดีๆ ตั้งแต่ Good Place เข้าไปแล้วสวยงาม, Good Teacher มีครูที่เก่งๆ, Good Activities มีกิจกรรมสอนอาชีพต่างๆ, Good Innovation ทำสินค้าโฆษณา กศน.แล้วขายผ่านตลาดออนไลน์, Good Co-Learning Space ห้องสมุดที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย มีกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด เปิดให้บริการถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน และ Good Partnership มีองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมการจัดการศึกษา
“สิ่งที่เราได้จากโครงการ กศน. WOW ทำให้เราคิดว่า จะขับเคลื่อนต่ออย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมองที่การสร้างรายได้ให้กับประชาชน ก็คือ การสร้างอาชีพ และมองว่าคนไทยสนใจอาชีพที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล” ดร.กมล กล่าว
ดร.กมล กล่าวอีกว่า การพัฒนานักธุรกิจดิจิทัลของพรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด 10 ด้าน เราเตรียมการว่า เราจะพัฒนาให้ได้อย่างน้อย 9 ล้านคน ในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ โดนประเทศไทยมีประมาณ 7 พันตำบล เราจะพัฒนาอย่างน้อยตำบลละ 1 พันคน กระบวนการจัดการของเราก็คือ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอตัวเพื่อจะเปิดสอนในหลักสูตร 10 สาขา ในทั่วประเทศ แล้วรัฐจัดเงินสนับสนุนครึ่งหนึ่งไปให้สถาบันการศึกษาในการจัดการเรียนการสอน อีกครึ่งหนึ่งให้กับผู้เรียนเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ หรือเริ่มกิจการตัวเองในลักษณะของ Start Up โดยจะแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านหรือในตำบลต่างๆ
ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ไปแปลงสิ่งที่เขาเคยทำอยู่ให้เป็นอาชีพที่ทันสมัยขึ้น เช่นเกษตรกรปรับตัวเองเป็น Smart Farming สามารถขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น กับกลุ่มคนที่เรียนในมหาวิทยาลัย หรือเรียนในสถาบันการศึกษา ที่นอกจากนำไปประกอบอาชีพได้แล้ว ยังสามารถเก็บหน่วยกิตนำไปเพื่อเก็บไว้ในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) สามารถเทียบโอนผลการเรียนในอนาคตได้อีก
“เชื่อว่าหลังจากเราทำเรื่องนี้ ฐานเศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป คนที่มีความเชี่ยวชาญระบบออนไลน์ 9 ล้านคนทั่วประเทศไทย จะนำพาไปสู่การสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบข้าง รวมไปถึงสังคมที่เขาอยู่ นี่คือภาพที่ พรรคภูมิใจไทย อยากเห็น และเราเชื่อว่า 4 ปีต่อจากนี้ เราจะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จได้” ดร.กมล กล่าว .-สำนักข่าวไทย