ศาลรัฐธรรมนูญ 30 พ.ย.-เปิดความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมติชี้ขาด ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลมีมติเอกฉันท์ ชี้ว่าการตราร่างกฏหมายตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132 นั้น คำร้องมีการอ้างถึงการประชุมรัฐสภาที่มีเจตนาทำให้การประชุมล่ม และไม่สามารถพิจารณาร่างฯได้ทันตามกรอบเวลาของกฎหมาย ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างแรก ที่ ครม.เสนอมา จากสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 กลับไปเป็นหารด้วย 100 ซึ่งเป็นเทคนิคการพิจารณาของรัฐสภาเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และไม่ได้กระทำขัดต่อกฎหมาย
แต่หากจะมีใครไปยื่นร้องเรื่องจริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามกระบวนการก็จะเป็นการไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ซึ่งในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการอาจเขียนไว้แทบทุกคน
และอีกประเด็นที่ตุลาการมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ที่ชี้ว่าในมาตรา 26 ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 โดย ตุลาการเสียงข้างน้อยมี 2 คน คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายจิรนิติ หะวานนท์ ที่เห็นต่างมุมว่า ในมาตรา 26 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเพราะมีการยกเลิกมาตรา 131 ทั้งมาตรา หากมีการทุจริตเลือกตั้งและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี จะต้องมีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ด้วย แต่มาตราดังกล่าวถูกตัดทิ้งไป ให้ข้อสังเกตว่าต้องติดตามว่าจะมีปัญหาใดในทางปฏิบัติในการจัดเลือกตั้งหรือไม่
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างมาก 7 คน เห็นว่าไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ เพราะว่าใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากระบบเลือกตั้งมีบัตรสองใบ ดังนั้นการนับคะแนนก็ต้องแยกกันคนละส่วน โดยเฉพาะการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นอำนาจของ กกต. ซึ่งมีอยู่ในบทบัญญัติแล้วมาตรา 27 และตุลาการไม่อาจจะไปชี้ได้ว่า จะต้องมีการคำนวณอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.
สำหรับการประชุมพิจารณาวันนี้ได้อภิปรายกันไม่มาก เนื่องจากมีการพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้ว และใช้เวลาปรึกษาหารือนานกว่าครั้งก่อนที่พิจารณาร่างกฏหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และหลังจากนี้ 30 วัน จะมีการออกคำวินิจฉัยกลาง จากนั้นจะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน – สำนักข่าวไทย