ทำเนียบ 1 พ.ย.- นายกฯ ยืนยันกม.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชน ระบุพร้อมรับฟังทุกฝ่าย กม.ไม่ดีต้องแก้ ลั่นทำเพื่อปชช. ด้าน “วิษณุ” บอกชาวบ้านแจ้งได้ หากจนท.ไม่รับทำธุรกรรมออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และคณะผู้บริหาร เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์ “การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้สะดวกรวดเร็วและฉับไวยิ่งขึ้น ช่วยลดเวลาในการติดต่อราชการ ประหยัดเวลา ประหยัดการเดินทาง เป็นการใช้ดิจิทัลและออนไลน์มาเสริม จึงต้องมีกฎหมายออกมารับรอง จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาหลายปีนี้คือการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้าง กฎหมาย และลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อลดภาระของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้เปิดให้บริการไปเยอะแล้วพอสมควรและทุกภาคส่วนต้องดำเนินการตามนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขกฎหมายและกฎกระทรวงไปมากมายหลายฉบับเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งมีขั้นตอนมากมายไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่รับฟังใครเลย ถ้าดีอยู่แล้วจะไม่ปรับ แต่ถ้ายังไม่พร้อม ไม่ครบ ไม่สะดวกหรือไม่เกิดประโยชน์ ก็จะต้องปรับตามกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ทุกกระทรวงต้องนำไปปรับใช้ ขอให้ประชาชนติดตามเรื่องนี้ ถ้าไปติดตามเรื่องที่สนุกสนานรื่นเริงมันไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้นักกฎหมายคือพระเอกตัวจริง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด 19 ต้องมีการเว้นระยะห่าง อยู่บ้าน จึงพบว่าเมื่อชาวบ้านต้องการติดต่อราชการ ทั้งการขออนุญาต การเสียภาษี การคัดสำเนา ไม่สามารถทำได้ จึงใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทน เมื่อทดลองแล้วได้ผลดี ประหยัดเวลา ประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมความเป็นรัฐบาลดิจิทัลมานาน ซึ่งบัดนี้สำเร็จแล้วสามารถให้บริการติดต่อราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว โดยมีกฎหมายรองรับ เชื่อว่าพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้บางมาตราจะยังไม่ได้ใช้เพราะยังไม่มีความพร้อม แต่ท้ายที่สุดจะต้องใช้ทั้งหมดทั่วประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หากส่วนราชการใดบังคับให้ประชาชนต้องมาทำธุรกรรมด้วยตัวเอง หากแจ้งแบบนั้นกับประชาชน ขอให้ช่วยแจ้งจับเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีรวมไปถึงความผิดมาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้น ซึ่งผู้บังคับบัญชารวมถึงระดับรัฐมนตรีอาจมีความผิดตามไปด้วย เพียงแต่ระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้น จึงต้องขอความเห็นใจจากประชาชน เพราะหลายกระทรวงยังไม่พร้อม ยังขาดเครื่องมือ ทั้งนี้มีกิจกรรมเพียง 5 อย่างเท่านั้นที่ต้องมาแสดงด้วยตนเอง ประกอบด้วย จดทะเบียนสมรส อย่าขาดจากการสมรส จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การทำบัตรประจำตัวประชาชน และการทำหนังสือเดินทาง
นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า กฎหมายนี้ให้ใช้กับฝ่ายบริหาร ยังไม่ใช้กับฝ่ายตุลาการ ดังนั้นการยื่นขอประกันทางออนไลน์จึงยังมีปัญหา หรือแม้แต่เรื่องของค่าปรับ เช่นเดียวกับการขอติดคุกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงสภาและองค์กรอิสระก็ยังไม่ใช้กฎหมายนี้เช่นกัน แต่หากต้องการใช้ให้แจ้งรัฐบาลจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ นอกจากนี้ยังจะมีกฎหมายอื่นๆ ตามมาอีก พร้อมทิ้งท้ายกฎหมายทางอิเล็กทรอนิกส์นอกจากประหยัดเวลาค่าใช้จ่าย ยังลดการพบปะซึ่งเป็นช่องทางของการเรียกรับทุจริตสินบน. สำนักข่าวไทย