โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ 29 ก.ย.-กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา จัดสัมมนาผลสัมฤทธิ์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ขณะรมช.กลาโหมชื่นชมหน่วยงานดำเนินงานเป็นรูปธรรม ทั้งคดีอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาชายแดนใต้ ความมั่นคงทางไซเบอร์ พัฒนาเทคโนโลยี
คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดงานสัมมนาเรื่อง “การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง : การแถลงสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคง ห้วงปี พ.ศ.2561-2565 ครั้งที่ 2 และแนวคิดในการดำเนินการขับเคลื่อนในช่วงที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)
พล.อ.อู้ด เบื้องบน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงในห้วงที่สอง กำหนดเป้าหมายว่าปัญหาเก่าหมดไป ปัญหาใหม่ไม่เกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมาว่ามีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากเพียงใด และทุกส่วนราชการจะได้นำนโยบายรวมถึงแนวความคิดในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมรับฟังงานสัมมนา พร้อมมอบนโยบายด้านความมั่นคง ขอให้เน้นผลสัมฤทธิ์ที่ขับเคลื่อน ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในห้วงปีแรก ยุทธศาสตร์ชาติเป็นความท้าทายที่หน่วยงานต่างๆต้องปรับแนวคิดการทำงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตามผลว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการเป็นทิศทางที่เหมาะสม แม้อาจต้องปรับปรุงบ้าง โดยจะเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการหลายประเด็นที่มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งคดีอาชญากรรมลดลง การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยหวังว่า 5 ปีหลังจากนี้ ทุกหน่วยงานจะปรับปรุงแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป
จากนั้น ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แถลงสรุปผลสัมฤทธิ์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนย่อยด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มีหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศให้มีความพร้อมในการป้องกันประเทศและรักษาอธิปไตยของชาติ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญจำนวน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบงานข่าวกรองแบบบูรณาการ 2.การพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความมั่นคง และ 3.การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติโดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนระดับต่าง ๆ
สำหรับผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนย่อยการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2565 ได้แก่ การพัฒนาระบบงานข่าวกรองแบบบูรณาการด้านการข่าวและแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกับประชาคมข่าวกรอง เสริมสร้างประสิทธิภาพงานข่าวกรองด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จัดตั้งศูนย์รักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายด้านการข่าวทุกภาคส่วน ศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งศูนย์อนาคตศึกษาเพื่อให้การข่าวกรองสามารถแจ้งเตือนและคาดการณ์อนาคตในแต่ละระยะ นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ซึ่งในปี 2565 เตรียมจัดทำร่างแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ พ.ศ.2566-2570 ตลอดจนการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติโดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความพร้อมของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่จะเผชิญกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ
ส่วนการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหมและกองทัพได้ปฏิรูปกองทัพและปรับบทบาทมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบัน โดยกองทัพไม่ได้มีภาระหน้าที่แค่เพียงป้องกันประเทศจากภัยคุกคามทางทหารเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชาติ ทั้งยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด รวมถึงความเดือดร้อนของประชาชน
สำหรับผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรนานาชาตินั้น ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี รักษาความเป็นกลาง ลดเงื่อนไขและโอกาสที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งในช่วงปี 2561-2565 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการที่สำคัญทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาระดับสูง การประชุมทวิภาคีกับมิตรประเทศ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน การฝึกและศึกษาทางทหาร การฝึกร่วมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เฉพาะด้าน ตลอดจนการปฎิบัติการระหว่างประเทศ
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนช่วง พ.ศ.2566-2570 สำนักข่าวกรองแห่งชาติอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบข่าวกรองแบบบูรณาการ ขณะที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ สำหรับกระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความมั่นคง และร่างแผนปฏิบัติการด้านการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติในภาพรวม ซึ่งที่ประชุมสภากลาโหมพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เตรียมเสนอขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเสนอไปยังสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบและประกาศใช้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย