ศาลากลาง จ.พิษณุโลก 28 ก.ย.- มท.1 คอนเฟอเรนซ์ ผู้ว่าฯ กลุ่มจังหวัดเสี่ยงพายุโนรู จากศาลากลาง จ.พิษณุโลก หลังปรับแผนกะทันหันไม่ไป จ.อุบลราชธานี เหตุสภาพอากาศปิด กำชับรับมือเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์พักพิงเพิ่ม ด้านผู้ว่าฯ อุบลราชธานี บอกโชคดีแม่น้ำโขงมีปริมาณต่ำ เร่งผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขงโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ประชุมติดตามสถานการณ์รับมือพายุโนรู ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเขตพื้นที่กลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุโนรู
พลเอกอนุพงษ์ แจ้งต่อที่ประชุม ว่า กำหนดการเดิมจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี แต่เนื่องจากกองทัพอากาศได้รายงานว่า จ.อุบลราชธานี ไม่สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้ จึงตัดสินใจจะไปที่จ.ขอนแก่น แต่ก็ได้รับรายงานว่า ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าขากลับจะสามารถนำเครื่องขึ้นได้หรือไม่ คณะจึงปรับแผนเดินทางมาที่ จ.พิษณุโลก แทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลมาจากร่องความกดอากาศเป็นหลัก และพายุโนรูที่กำลังจะพัดเข้ามาในอีกไม่กี่วันนี้ โดยในหลายพื้นที่ มีสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยได้ระบายน้ำไปบางส่วนแล้ว ส่วนปริมาณแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ขณะนี้ มวลน้ำยังไหลไม่ถึง จ.อุบลราชธานี สถานการณ์จึงน่าเป็นห่วง เพราะหากมีฝนตกเพิ่ม ก็จะมีปริมาณน้ำที่มาก จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเรียบร้อยแล้ว ได้ติดตามสถานการณ์ด้วย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือ จิสด้า และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เตรียมความพร้อมการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ แล้วประเมินสถานการณ์มายังจังหวัด รวมถึงการเตรียมพร้อมของ ทหาร ตำรวจ โรงพยาบาล ศูนย์พักพิง
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยยังไม่มีพายุเข้ามาโดยตรง มีเพียงได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำมาโดยตลอด ซึ่งพายุโนรูถือเป็นลูกแรก จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบติดตามสถานการณ์ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงมากให้ประเมินจากสถานการณ์จริง กำหนดพื้นที่จริงเพื่อป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต่อไป ยืนยันว่า จะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีให้ได้หากสภาพอากาศดีขึ้น
ส่วนกรณีไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการประเมินสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายจากไฟฟ้า ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด กำชับเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรกล บรรเทาสาธารณภัย เพื่อรับมือสถานการณ์ให้ทันถ่วงที
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล ว่า แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน 8 อำเภอ และมีน้ำชี ไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ ทำให้ขณะนี้อัตราการไหลของน้ำเกินศักยภาพแล้ว ปริมาณมีถึง 3,400 ลูกบาศเมตร แต่ยังโชคดีที่แม่น้ำโขงที่รับน้ำจากแม่น้ำมูล ยังมีปริมาณต่ำ สามารถผลักดันลงแม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องเร่งระบายน้ำลงแม่โขงโดยเร็วที่สุด และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำใต้สะพานพิบูลมังสาหาร 170 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่แก่งสะพือ อีก 10 ตัว นอกจากนี้จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมเครื่องมือ บรรเทาอุกทกภัย 1,600 รายการ และขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 44 ชุมชน 4,100 คน ที่อพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง ที่มีรองรับ 40 ศูนย์ ซึ่งจะต้องเพิ่มศูนย์พักพิง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจช่วงบ่ายส่วน พลเอกอนุพงษ์ และคณะ จะลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมประชาชน ที่บ้านบังบอน บ้านคลองจระเข้ และเยี่ยมญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุอุทกภัยที่บ้านวังพรม อ.วังทอง ก่อนเดินทางกลับ กรุงเทพมหานคร.- สำนักข่าวไทย