26 ก.ย. – “พล.อ.ประวิตร” ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโนรู อย่างใกล้ชิด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ “โนรู” (NORU) อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 16 มีศูนย์กลางบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกสู่ทะเลจีนใต้ อาจจะทวีกำลังแรงขึ้นได้อีก คาดจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.นี้ และมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันที่ 28 ก.ย.65 ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช. จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.65) ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อระดมแผนการรับมือและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดและสามารถเข้าเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์การบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ยังได้เตรียมเดินหน้าจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในแต่ละทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามมติของคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ที่เห็นชอบแผนรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำต่างๆ ทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการคาดการณ์ ตลอดจนเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง ระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ และการให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน
โดยในช่วงเดือน ก.ย. มีกำหนดจัดจำนวน 4 ครั้ง โดยจะเริ่มครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.65) จ.พระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ จ.นนทบุรี ครั้งที่ 3 ณ อำเภอลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และครั้งที่ 4 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี
สำหรับทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อาทิ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเชียงราก ซึ่งมีศักยภาพรองรับน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยก่อนที่จะรับน้ำเข้าทุ่งจะดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และทางจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า ในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งล่าสุดพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 10 ทุ่ง ได้เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วคิดเป็น 96.66% คาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง กอนช. ได้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาสนับสนุนการปล่อยปลา เพื่อใช้เป็นอาหารและสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในช่วงระหว่างการรับน้ำเข้าทุ่ง และจะมีการเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่จะคงเหลือปริมาณน้ำไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งนี้ด้วย ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. – สำนักข่าวไทย