ทำเนียบ 24 ก.ย.- รัฐบาลรายงาน กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 6 ล้านคน รวม 7 แสนล้านบาท หากแก้กฎหมายไม่คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายได้หาย 6 พันล้านบาทต่อปี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก เปิดเผยถึงการดำเนินการปล่อยกู้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้ให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศได้กู้ยืมไปแล้ว 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 986,668 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,669,129 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,559,421 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 ราย
สำหรับปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนนักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืม 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้คืนในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565)
นอกจากนี้ ยังมี 25 อันดับ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่ชำระหนี้ดีที่สุด โดยมีมหาวิทยาลัยพะเยา ชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ คือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ส่วนลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด มีดังนี้
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
“สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ที่สภาผู้แทนราษฏร มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินต้นและเบี้ยปรับกรณีผิดชำระ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาของวุฒิสภา ทั้งนี้ แต่ละปี กยศ.จะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 40,000 ล้านบาท เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป” นางสาวรัชดา กล่าว .-สำนักข่าวไทย