ปภ. 24 ส.ค.- ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด เร่งประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 15 – 24 สิงหาคม 2565 ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มุกดาหาร บึงกาฬ ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง พังงา และภูเก็ต รวม 74 อำเภอ 193 ตำบล 627 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,657 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย (พิษณุโลก 2 ราย แพร่ 1 ราย)
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 62 ตำบล 256 หมู่บ้าน ดังนี้
- พิษณุโลก เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ รวม 9 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 486 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- อุบลราชธานี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ชุมชนวังแดง เทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี รวม 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 26 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
- ปราจีนบุรี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะหัน รวม 50 ตำบล 224 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,981 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 57 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว จะได้เร่งสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป .-สำนักข่าวไทย