27 พฤศจิกายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: USA TODAY (อเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- “กรุงเทพธุรกิจ” ไม่ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าว
- ภาพเลือดสีแดงสด และ เลือดสีเข้ม ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยืนยันว่า ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ดังที่แชร์กัน
- เป็นเพียงเรื่องหลอกลวงที่แชร์กันในกลุ่มต่อต้านวัคซีนมาตั้งแต่หลายเดือนก่อน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีการเผยแพร่ภาพข่าวจาก “กรุงเทพธุรกิจ” พร้อมภาพเลือดในหลอดฉีดยาที่เป็นสีดำ และอ้างว่าเป็นเลือดก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนเลือด เนื่องจากเลือดของผู้บริจาคที่ฉีดวัคซีนมีสีดำ
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
- ภาพจาก “กรุงเทพธุรกิจ” เป็นข่าวเรื่อง “สภากาชาดจ่ายเลือดได้เพียง 43% กระทบรักษา-ผ่าตัด” เมื่อ 21 พ.ย. 2564 โดยการขาดแคลนเลือดเป็นผลมาจากสาเหตุอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการฉีดวัคซีน หรือ ผู้ฉีดวัคซีน ส่วนข้อความ “วิกฤติเริ่มขาดแคลนเลือดแล้ว เนื่องจากเลือดของผู้บริจาคที่ฉีดวัคซีน ดำ” ก็ไม่พบอยู่ในเนื้อหาข่าวต้นฉบับ (https://www.bangkokbiznews.com/social/973082)
- ภาพเลือดในกระบอกฉีดยา ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า เป็นเลือดอะไร หรือ จากแหล่งใด ข้อความที่เติมลงไปบนภาพ จะเป็นข้อความอะไรก็ได้ ภาพที่ไม่มีที่มาดังกล่าวเพียงภาพเดียวจึงไม่น่าเชื่อถือ และหากตรวจสอบภาพย้อนกลับ ก็พบว่า เป็นภาพเดียวกับที่แชร์กันในต่างประเทศ ซึ่งมีหลายสำนักข่าวนำเสนอข้อมูลหักล้างแล้วตั้งแต่ราวต้นเดือนตุลาคม 2564 โดยพบว่าเป็นเรื่องหลอกลวงจากกลุ่มต่อต้านวัคซีน
- ข้อความที่แชร์กันระบุว่า “เลือดมันดำคล้ำเป็นพิษใช้ไม่ได้…” “คนไม่ฉีดวัคซีน กาชาดต้องการ” นั้น ตรวจสอบกับ ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยืนยันว่า ชุดข้อความดังกล่าว รวมทั้งภาพเลือดที่แชร์กัน ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า ที่กล่าวอ้างว่า “เลือดของผู้บริจาคโลหิตที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้” นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะโลหิตเป็นของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดในร่างกาย มีสารประกอบที่เรียกว่า “ฮีโมโกลบิน” ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ทำหน้าที่ขนส่งอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เลือดมีสีแดงเสมอ หรือแดงเข้ม ไม่เคยพบว่ามีสีดำ
ทั้งนี้ โลหิตบริจาคทุกยูนิต จะถูกนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล เมื่อผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
สำหรับขั้นตอนกระบวนการ ได้แก่ การตรวจคัดกรองโลหิต ตรวจหมู่โลหิต เอ บี โอ ระบบอาร์เอช, ตรวจ Antibody (แอน-ติ-บอ-ดี้) ต่อหมู่โลหิต, ตรวจการติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางโลหิต อาทิ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีเชื้อซิฟิลิส และเชื้อเอชไอวี และนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวยืนยันว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนและมีร่างกายแข็งแรงตามเกณฑ์สามารถบริจาคโลหิตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคจะต้องคัดกรองและประเมินตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต เพื่อความปลอดภัยของท่านและส่วนรวม
ศ.นพ.อิศรางค์ ตั้งข้อสังเกตว่า เลือดที่มีสีดำนั้น เลือดที่ถูกกรด ก็จะมีสีดำ เช่น เมื่อเลือดออกในกระเพาะอาหาร การอาเจียน หรือ อุจจาระ ออกมาจะเป็นสีดำ
ข้อมูลอ้างอิง:
Fact check: COVID-19 vaccines don’t change blood color (usatoday.com)
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter