ทำเนียบ 25 ก.พ.- นายกฯ สั่งการกลาง ครม. บุหรี่ไฟฟ้าต้องหมดไป ให้ “รมต.จิราพร” เป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวาดล้าง-แก้ระยะยาว รายงานผลภายใน 15 วัน พร้อมเชิญ ก.เกษตร-ก.พาณิชย์ เร่งหามาตรการระยะสั้น-ระยะยาว ช่วยยกระดับรายได้เกษตร ชี้ หากวางแผนครอบคลุมไม่จำเป็นต้องใช้งบฯ อุดหนุนมาก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้(25 ก.พ.) นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานการจับกุมร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ สน.คันนายาว และ สน.โคกคาม กรุงเทพมหานคร และรายงานธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยสั่งการว่าในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ทาง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแต่กลับพบว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ นางสาว จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้า ออกกวาดล้างจับกุม และการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยให้ เร่งแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น และขอให้กลับมารายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลใจ โดยกล่าวย้ำ ขอให้เร่งดำเนินการเร่งด่วน เพราะตนเองมีลูก ๆ จึงเกิดความกังวลใจอย่างมาก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม ปัญหาราคาพืชผลเกษตร โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ มาพูดคุยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งเร่งหามาตรการที่จะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะในส่วนของราคาข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ที่มีแนวโน้มว่าราคาจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของการพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสม การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ รวมทั้งการศึกษาถึงความต้องการของตลาด หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนอย่างครอบคลุมและดำเนินการตามแผนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มาตรการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการอุดหนุน/เยียวยา/ชดเชยราคา ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการเรื่องปัญหาเรือประมง ว่า จากการที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่รัฐบาลในอดีตได้ดำเนินโครงการนำเรือออกนอกระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรือประมงให้มีจำนวนเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) จากการใช้เรือประมง ที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบสากล ขอให้กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการหามาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และให้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบต่อไป .-316 -สำนักข่าวไทย