รัฐสภา 27 ม.ค.- สว.จี้รัฐเร่งช่วย 4 ลูกเรือไทย ถูกขังในเมียนมานาน 59 วัน ด้าน “มาริษ” ยันไม่ทอดทิ้ง ติดต่อเข้าเยี่ยมแล้ว 3 ครั้ง แต่ขั้นตอนเมียนมาไม่เหมือนไทย ขณะที่ “บิ๊กเกรียง” ออกโรงพร้อมช่วยประสานให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุมพิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือ ของนายธนกร ภาวรชินโชติ สว.ถามกระทู้ การช่วยเหลือลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกจับและคุมขังที่ประเทศเมียนมา โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม
นายมาริษ ชี้แจงว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เรือประมงไทยถูกยิงและมีลูกเรือถูกทางการเมียนมาจับ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังหน่วยงานทุกระดับของเมียนมาเพื่อแก้ปัญหา และตนได้โทรศัพท์ประสานไปยัง รองนายกฯและรมว.การต่างประเทศเมียนมาให้ช่วยเหลือ แต่ยอมรับว่าขั้นตอนของเมียนมานั้นแตกต่างจากไทย ทั้งนี้รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศของเมียนมา ให้คำยืนยันว่าพยายามเต็มที่ต่อการปล่อยตัวลูกเรือไทยทั้ง 4 คน และพยายามแก้ไขปัญหาที่ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ซึ่งทางเมียนมาขอบคุณที่ฝ่ายไทยพยายามลดความร้อนแรงในสาธารณะ
นายมาริษ ชี้แจงด้วยว่าสำหรับแนวทางการแก้ปัญหา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ สั่งการให้แก้ใน 2 ระดับ คือการดูแลลูกเรือประมง และผลักดันให้ปล่อยตัว โดยขณะนี้คณะกรรมการชายแดนร่วมกันระหว่างไทย กับเมียนมาหารือกัน ซึ่งมีบทบาทลดความรุนแรงของความไม่เข้าใจให้อยู่ในความร่วมมือของกรรมการใน
พื่นที่ร่วมกัน
ทั้งนี้นายธนกร ถามต่อว่า ขอคำยืนยันจากรัฐบาลไทยว่าลูกเรือประมงทั้ง 4 คนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร เพราะที่รัฐบาลชี้แจงว่าได้เข้าเยี่ยมและดูแลนั้น ตนทราบจากเจ้าของเรือที่ถูกจับว่าไปเยี่ยมแค่ 1 ครั้งประมาณ 2-3 นาที และอนุญาตให้เข้าเยี่ยมแค่คนเดียว ส่วนลูกของลูกเรือที่ถูกจับ ได้โทรศัพท์คุย 2 นาทีแบบรีบๆ ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น 59 วันได้ข่าวแค่นั้น เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างยาก แต่หากยากแล้วทำได้ก็จะน่าภูมิใจ
ด้านนายมาริษ ชี้แจงว่า กรรมการพื้นที่ทำอย่างเต็มที่และจะรับสิ่งที่สว.ท้วงติงไว้ ขอบคุณที่เข้าใจ เพราะเมียนมาไม่เหมือนประเทศไทย การขอเข้าพบต้องใช้เวลา ยืนยันไม่ได้ทอดทิ้ง พยายามเข้าเยี่ยม โดยทำเรื่อง 3 ครั้ง และจะทำต่อไป เราไม่ได้ปล่อยละเลย สถานทูตและพื้นที่ได้ผลักดัน2 เรื่อง คือ การปล่อยตัวและการดูแลลูกเรือที่ถูกจับกุมในเมียนมา
ทั้งนี้ พล.อ.เกรียงไกร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวขึ้นว่า ตนในฐานะเคยเป็นกรรมการชายแดนท้องถิ่น หากญาติมีความต้องการอย่างไร ตนสามารถประสานให้อีกทางหนึ่งได้.-312 -สำนักข่าวไทย