รัฐสภา 22 ม.ค.- “ณัฐพงษ์” จี้ถามรัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เมื่อไหร่ ชี้ปัญหาเกิดขึ้นทุกปี รัฐบาลมีเวลาบริหารและวางแผนล่วงหน้าได้ ติงนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรเผาอ้อยไปขายโรงงาน จับตางบฯ ปี 69 จะเพิ่มงบให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาไฟป่าหรือไม่
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้และป้องกันปัญหาล่วงหน้าได้เนื่องจากเกิดมาแล้วหลายปี หากรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนและวางแผนล่วงหน้าอย่างดีเพียงพอ จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ดีกว่านี้ยิ่งขึ้น
โดยหยิบยกเรื่องมาตรการเงินอุดหนุนให้ชาวนา หรือเกษตรกรต่างๆ เช่นการรับซื้ออ้อยสดหรืออ้อยเผา ยังเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีเกษตรกรเผาอ้อยนำไปจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการหลายร้อยคัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากความไม่ชัดเจนของรัฐบาล หากสื่อสารชัดเจนแต่แรกว่าจะมีมาตรการรับซื้ออ้อยสดอย่างไร รวมถึงมาตรการรับซื้ออ้อยเผา จะทำให้เกษตรกรและโรงงานสามารถวางแผนก่อนการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าได้
“แต่ผลที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่มีความชัดเจนทำให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วด้วยวิธีการเผา แต่รัฐบาลขอความร่วมมือไปยังโรงงานว่าไม่ให้รับซื้อ กลายเป็นว่ามีอ้อยเผาที่ค้างอยู่จำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้รอนำเข้า ครม. นานแล้วแต่ขาดความชัดเจนรวดเร็วในการจัดการต่อเกษตรกรล่วงหน้า” นายณัฐพงษ์กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาชน ยังยกตัวอย่างเรื่องชาวนา เช่นการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรหรือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งรัฐบาลสามารถออกมาตรการกระตุ้นลดการเผาได้ หรือการบูรณาการข้อมูลการทำงานร่วมกับจิสด้า ที่มีเทคโนโลยีในการตรวจจับ ดูภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อดูพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลบูรณาการร่วมกันใช้ในการติดตามตรวจสอบว่ามีพื้นที่ใดใช้วิธีการเผา
โดยเห็นว่าการปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำทุกปี และพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่สื่อสารกับประชาชนโดยตลอดว่าต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษPM2.5 โดยเร็ว คำถามคือโดยเร็วเมื่อไหร่ ที่ผ่านมาอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้คือปัญหาฝุ่นเกิดขึ้นซ้ำทุกปี เพียงแต่รอมาตรการที่ชัดเจนของภาครัฐ หากมีมาตรการที่ชัดเจนและสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาเข้าใจตรงกันเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณคือเรื่องไฟป่า ปีงบประมาณ 2568 พบว่าคำของบประมาณของท้องถิ่นใช้ในการจัดการไฟป่า ขอ 1,000 ล้านบาทได้รับการจัดสรรเพียงกว่า 100 ล้านบาทเท่านั้นทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดการไฟป่า โดยหวังว่าในงบประมาณปี 2569 สภาได้รับความชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการไฟป่ามากขึ้นหรือไม่.-315 -สำนักข่าวไทย