กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นจีดีพีปี 68 เหลือ 2.4% ท่องเที่ยวชะลอ-ส่งออกหดตัว เหตุสงครามการค้า ประเมินเฟดชะลอขึ้นดอกบี้ย กระทบเงินบาทอ่อนค่า เสนอรัฐออกมาตการช่วยภาคธุรกิจ-ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ห่วงปัญหาหนี้ธุรกิจด้อยคุณภาพ
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจในปี 2568 ว่าการกลับมาอีกครั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความไม่แน่นอนขึ้นมาต่อการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่ต้องรอความชัดเจนในต้นปีหน้า ก่อให้เกิดความกังวล ว่า เศรษฐกิจโลกจะซบเซาเหมือนช่วงทศวรรษ 1930 นอกจากนั้นนโยบายอเมริกาเฟิร์สท์ จะทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบโลก (Global Order) สร้างความเสี่ยงต่อองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่น WTO และ NATO
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.4% ช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% เนื่องจากแรงส่งจากการท่องเที่ยวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด ขณะที่คาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัว จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่จะมาจากสหรัฐ ทั้งทางตรงผ่านตลาดส่งออกสหรัฐฯ และทางอ้อมผ่านตลาดอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา จากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับ FDIs ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีนท่ามกลางขีดความสามารถที่ลดลง
ประเมินค่าเงินบาท จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นจากนโยบายลดการขาดดุลการค้า การชะลอการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าน่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีหน้า และค่าเงินหยวนยังมีโอกาสอ่อนค่าลง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าอาจอ่อนค่าลงถึง 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่ต้องจับตาคือปัญหาหนี้ธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มไปได้ แต่ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มเผชิญปัญหากับการแข่งขันกับนอกประเทศ สินค้าเราอาจไม่เป็นที่ต้องการ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ การส่งเสริมธุรกิจใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กไปต่อได้ รวมถึงมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ การลดภาษี การผ่อนคลายกฏเกณฑ์ให้สะดวกขึ้น การจูงใจให้ชาวต่างชาติย้ายฐานที่พำนักมาอยู่ในไทยมากขึ้น พร้อมยังเสนอรัฐบาลมีการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น เช่น การจัดการประชุมนานาชาติ
“เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องกิโยตินให้คมๆ กฏหมายที่ทับซ้อนทำให้มันง่าย เพราะเราไม่ได้แข่งกับตัวเอง แต่ประเทศอื่นเขาทำให้ง่ายกว่าเราเยอะ ต้องมองการแข่งขันทั่วโลก คนที่จะไปลงทุนประเทศอื่นเพราะเห็นว่าดูดีกว่าภาษีน้อยกว่า แล้วประเทศไทยน่าสนใจตรงไหน จึงอย่าให้เป็นโจทย์แก่รัฐบาล” นายบุรินทร์ กล่าว
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 คาดว่าจะยังเห็นสถานการณ์ที่แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.6% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่ยังจะกดดันให้สินเชื่อรายย่อยยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจ จากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ คือ
- หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด
- ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง
- สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อเผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น
- การเจาะกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น
- ประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่ไม่กระจายทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ชี้ว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน.-516-สำนักข่าวไทย