26 พ.ย. – ร้องอธิบดีกรมการปกครอง ตรวจสอบประธาน และคณะกรรมการสมาคมฮินดู ที่หมดวาระ หลังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ พร้อมนายรามลลิต สุกุลพราหมณ์ ในฐานะผู้แทนสมาชิกสมาคมฮินดูธรรมสภา (วัดวิษณุ) และคณะ ได้มายื่นหนังสือร้องเรียน ให้นายชัยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ให้ตรวจสอบประธาน และคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระ และจะตามคดีทุก 30 วัน โดยนายมนู บุญสนอง หัวหน้ากลุ่มทะเบียนสมาคม เป็นผู้รับแทน สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ไม่จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ตามข้อบังคับสมาคมฮินดูธรรมสภา กำหนดให้กรรมการทุกคนของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ต้องจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้สมาชิกเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ครบวาระ แต่เมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดปัจจุบัน กลับไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสมาคมฯ แต่ไปล็อบบี้ให้สมาชิกในที่ประชุมใหญ่สามัญ จำนวน 44 คน จากสมาชิกทั้งหมด 163 คน ลงมติเห็นควรให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ และศิวาลัยด้านหน้าสมาคมฯ จะแล้วเสร็จ รวมทั้งคดีความต่างๆ ของสมาคมฯ ที่ยังค้างคาอยู่ในศาลอีกหลายคดี และยังไม่มีคดีไหนตัดสินถึงที่สุด เห็นว่าคดีต่างๆ ของสมาคมฯ ควรจะสิ้นสุดทั้งหมดก่อน แล้วค่อยจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดปัจจุบัน ยังได้พยายามที่จะแก้ไขข้อบังคับของสมาคมฮินดูธรรมสภา เพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจบริหารต่อไปได้ โดยขอแก้ไขเพิ่มบทเฉพาะกาล “ให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันรักษาการต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป” โดยอ้างเหตุผลเดียวกัน แต่ปรากฏว่านายทะเบียนฯ ได้ปฏิเสธในการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว จากการกระทำของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดปัจจุบัน จึงตั้งข้อสังเกตว่า มีเจตนาฝ่าฝืนต่อข้อบังคับ และขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ อันมีลักษณะเป็นการยึดติด เหนี่ยวรั้งตำแหน่ง หน่วงเวลาเพื่อรักษาอำนาจไม่ให้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ เข้ามาบริหารต่อหรือไม่ สมาคมฮินดูธรรมสภานั้นไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล หรือกลุ่มใด การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทางศาสนาหรือไม่ เพราะสมาคมฯ มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมาก และยังมียอดเงินบริจาคเป็นจำนวนเงินที่สูงมากด้วย จึงต้องมีข้อบังคับของสมาคมฯ กำหนดให้หมุนเวียนตำแหน่งบริหารสมาคมฯ เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสมาคมฯ เพื่อให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งของชาวฮินดูที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีการแบ่งพวกแบ่งกลุ่มกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวฮินดู ซึ่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสมาชิกของสมาคมฯ และนายทะเบียนท้องถิ่นได้ โดยพบว่ามีการทำหนังสือร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งความขัดแย้งในสมาคมฯ ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของสมาชิกสมาคมฯ ทั้งยังสร้างความสับสนต่อประชาชนผู้นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมาประกอบศาสนกิจในสมาคมฯ เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ จึงเป็นเหตุให้กรรมการทยอยลาออก และจำนวนสมาชิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม จึงขอให้นายทะเบียนสมาคมในกรุงเทพมหานคร พิจารณามีคำสั่งให้เลิกสมาคมฮินดูธรรมสภา (วัดวิษณุ) ขอให้คุ้มครองชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารชุดที่หมดวาระไปแล้ว หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที มอบหมายให้กรมการปกครอง และกรมศาสนา ร่วมกันแต่งตั้งคณะบุคคลชาวฮินดูสัญชาติไทย จากสมาคมฮินดู สมาคมอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เข้ามาบริหารกิจการของสมาคมฮินดูธรรมสภา ในระหว่างพิจารณาออกคำสั่งให้เลิกสมาคมฮินดูธรรมสภาโดยชอบ ของและมีคำสั่งให้ดำเนินการตามข้อบังคับของสมาคมฮินดูธรรมสภาแห่งประเทศไทยโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 101 ประกอบมาตรา 102 (1)-(5) มาตรา 103 มาตรา 104 และขอให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ วิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษานิติรัฐ และความสงบเรียบร้อย รวมถึงศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วย
ภายหลังการยื่นหนังสือร้องเรียน ทางตัวแทนกรมการปกครองที่รับหนังสือ เปิดเผยว่า เตรียมนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเสนอให้อธิบดีกรมการปกครอง ตรวจสอบและพิจารณาต่อไป. -319 สำนักข่าวไทย