กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – “นพดล” แนะ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง ยันไม่ตอบมั่วๆ ชี้ เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เขียนชัด ตราบใดยังไม่มีข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลถือว่า ไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลทั้งไทยและกัมพูชา
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ตอบโต้ว่านายนพดล ตอบมั่วๆ เรื่องที่ว่าไทยไม่เคยยอมเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา และนพ.วรงค์ อ้างแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 ว่าเป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา นั้น ในเรื่องนี้ขอเรียน นพ.วรงค์ ว่าตนจบกฎหมายจากออกซฟอร์ด และจบเนติบัณทิตไทย และเนติบัณทิตอังกฤษ ตนจึงไร้ความสามารถที่จะตอบแบบมั่วๆ และขอเรียนคนไทยว่า เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1.ไม่มีเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ตอนใดเลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาประกาศ 2.หมอวรงค์ต้องอ่านให้เข้าใจว่าแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 เพียงสะท้อนเส้น 2 เส้นที่กัมพูชาประกาศฝ่ายเดียวและเส้นที่ไทยประกาศ มันคือการสะท้อนการอ้างสิทธิ์สูงสุด (maximum claim) ของทั้งสองฝ่ายเพื่อใช้ในการเจรจา ไม่ใช่เท่ากับว่าไทยไปยอมรับ (admit) เส้นของกัมพูชา ถ้าตีความว่าแผนผังนั้นเท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา มันก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ 3.ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 4).เนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหาเอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา ในประเด็นนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายก็แถลงไปแล้วว่าเอ็มโอยูไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา ตนจึงขอเรียกร้องให้นพ.วรงค์เห็นแก่บ้านเมืองมากกว่าวาระการเมืองและยุติการให้ความเห็นผิดๆ เสีย เพราะการตีความว่าเอ็มโอยู 44ไปยอมรับเส้นของกัมพูชานั้นไม่เป็นผลดีต่อท่าทีของประเทศไทย และมันไม่จริงอีกด้วย
นายนพดล กล่าวอีกว่า นพ.วรงค์ กล่าวหาว่าตนเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าตอบมั่วๆ ตนขอย้ำว่าคนอย่างตนไม่เคยมั่ว หมอวรงค์เคยสังกัดพรรคการเมืองที่เคยใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2551 ว่า ทำให้ไทยเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่ ทั้งๆที่ความจริงไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 แต่ปัญหาคือในปี 2551 กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนทั้ง ตัวปราสาทพระวิหาร และ พื้นที่ทับซ้อน เป็นมรดกโลก แต่ตนได้เจรจาจนกัมพูชายอมตัด พื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน ตนจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีกเพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศมาแล้ว.-316-สำนักข่าวไทย