ปทุมธานี 15 ธ.ค. – ทส. สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดแนวทางอนุรักษ์และการวิจัยหาสายพันธุ์ของวาฬอำแพง
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสั่งการให้กรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันขุดค้นและพิสูจน์สายพันธุ์ซากวาฬ ซึ่งพบที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคาร ทั้งนี้ทีมสำรวจเก็บกู้โครงกระดูกวาฬตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม ล่าสุดพบชิ้นส่วนกระดูกเกือบสมบูรณ์ทั้งตัว ประกอบด้วย กระดูกสันหลัง ซี่โครง กะโหลกและขากรรไกรและแขนและมือ (ครีบ) ข้างขวา ซึ่งถือว่า สมบูรณ์กว่าร้อยละ 90 รวม 127 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนอนุรักษ์ตัวอย่างที่ห้องปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี
ขณะนี้นักวิจัยเริ่มเปิดเฝือก ทำความสะอาดกระดูกด้วยการนำดินออกด้วยมีดแซะ เครื่องเป่าลม สกัดเอาหินหรือส่วนที่แข็งออกด้วยปากกาลม ล้างด้วยแอลกอฮอล์ ซ่อมแซมส่วนที่แตกหักด้วยกาวร้อน หรือกาวใสชนิดแห้งเร็ว เมื่อสะอาดแล้วจึงทาน้ำยาเคลือบ (Hardener) เพื่อป้องกันการสัมผัสอากาศ และเพิ่มความแข็งให้กับกระดูก แล้วเสร็จจึงใส่หมายเลขตัวอย่าง นำไปจัดเก็บในคลังตัวอย่างเพื่อรอศึกษาวิจัย จากตัวอย่างทั้งหมด 127 ชิ้น ได้อนุรักษ์ตัวอย่างเสร็จสิ้นแล้ว 69 ชิ้น ประกอบไปด้วย กระดูกซี่โครง 25 ชิ้น กระดูกหน้าอก 1 ชิ้น แขนและมือ (ครีบ) ข้างซ้าย 27 ชิ้น กระดูกสันหลัง 16 ชิ้น ส่วนการหาอายุกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ ซึ่งได้มีการส่งตัวอย่างกระดูกไปวิเคราะห์หาอายุจากธาตุคาร์บอน-14 (C-14) โดยใช้วิธีการวัดมวลด้วยเครื่องเร่งอนุภาค (Accelerator Mass Spectrometer-AMS) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็น วาฬบรูด้าหรือวาฬแกลบ (Balaenoptea edeni) ขนาดใหญ่ แต่ต้องรอเปิดเฝือกส่วนกะโหลก แล้วตรวจสอบกระดูกส่วนหูเพื่อยืนยันอีกครั้ง
ทั้งนี้จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และเห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับวาฬ นอกจากนี้ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อร่วมกันไขข้อมูลจากโครงกระดูกวาฬในครั้งนี้ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจะได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในปลายเดือนมกราคม 2564
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการโครงกระดูกวาฬในเบื้องต้น ต้องทำการหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโครงกระดูกมีขนาดใหญ่ สภาพกระดูกมีความเปราะบาง ผุพังง่าย ต้องเตรียมสถานที่สำหรับโครงกระดูกวาฬให้มีความเหมาะสมทั้งเรื่องอุณหภูมิ พื้นที่ในการจัดแสดงและอื่นๆ โดยกรมทรัพยากรธรณี จะได้ทำการจัดเก็บไว้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ระหว่างการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป . – สำนักข่าวไทย