ฉะเชิงเทรา 5 ส.ค.- ทีมสัตวแพทย์ร่วมรักษาอาการป่วยของลูกช้างป่า “ตุลา” อย่างเต็มที่ ผลจากการไม่ล้มตัวลงนอนหลายวัน ทำให้ขาหน้าทั้ง 2 ข้างบวมอักเสบ พบภาวะกระดูกบาง ปากมีแผลเนื่องจากใช้งวงจับคอกไม้เพื่อพยุงน้ำหนักตัว จึงเร่งรักษาทุกอาการ ส่วน “มีนา” แข็งแรงดีมาก
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาลูกช้างป่าเพศผู้ “ตุลา” จากสัตวแพทย์หญิงมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทราว่า ได้รับการสนับสนุนจากสัตวแพทย์หลายที่เข้าประเมินอาการประกอบด้วย ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะทำงานสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยและคลินิกช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย และทีมสัตวแพทย์จากองค์การสวนสัตว์ (สวนสัตว์เปิดเขาเขียว) โดยได้ก็บตัวอย่างเลือดและสวอปช่องปากเพื่อตรวจเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสซึ่งให้ผลเป็นลบ แต่ผลตรวจเลือดมีค่าตับสูงกว่าปกติ ค่าแคลเซียมต่ำกว่าปกติ และค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อสูงกว่าปกติมาก
ทั้งนี้ “ตุลา” ไม่ล้มตัวลงนอนติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันเนื่องจากเจ็บขา ทำให้มีอาการปวดอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมไปถึงขาหลังขวาเพิ่มขึ้น การย่างเดินผิดปกติ มีอาการบวมน้ำอักเสบบริเวณไหล่ข้างซ้ายร่วมด้วย จากการถ่ายภาพเอกซเรย์พบภาวะกระดูกบาง ลูกช้างใช้งวงจับรั้วคอกไม้เพื่อพยุงน้ำหนักตัวจึงทำให้เป็นแผลที่ปาก สัตวแพทย์จึงให้พี่เลี้ยงหุ้มคอกไม้ด้วยผ้าลดการสัมผัสกับไม้โดยตรง แล้วล้างปากและพ่นสเปรย์นาโนรักษาแผลในปาก นอกจากนี้ยังปูพื้นคอกด้วยแผ่นยางหนาเพื่อลดแรงกดทับจากการยืนเป็นเวลานานในคอกพื้นปูน
ล่าสุดได้รับการสนับสนุนเครื่องแม็กเนติกจากนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาภาวะกระดูกบาง โดยพลังงานสนามแม่เหล็กจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นตัวของกระดูก ลดบวมช้ำ ลดปวด ลดอักเสบ เร่งกระบวนการงอกของกระดูก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย รวมถึงทำเลเซอร์บริเวณขาและหัวไหล่ข้างซ้าย ตลอดจนฉีดยาลดปวด ร่วมกับประคบเย็นและร้อนตามจุดต่างๆ ที่บวมและอักเสบ เสริมแคลเซียม วิตามินบีรวมบำรุงปลายประสาท วิตามินซีเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยาบำรุงข้อให้กินทุกวัน
ส่วน “มีนา” ลูกช้างป่าเพศเมียซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เช่นกัน ได้รับรายงานว่า สุขภาพแข็งแรงมากและร่าเริงดี ขณะนี้ให้กินนมผสมธัญพืชและหญ้าปั่น เริ่มกินอาหารหยาบได้แก่ หยวกกล้วยสับและใบกล้วย ผลไม้ได้แก่ กล้วยน้ำว้าและมะม่วงสุก ฝึกให้กินหญ้าขน เสริมวิตามินซีและแคลเซียม ผลตรวจเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสจากตัวอย่างสวอปช่องปากเป็นลบ
นายก้องเกียรติกล่าวว่า ได้กำชับให้สัตวแพทย์และพี่เลี้ยงอนุบาลใกล้ชิดลูกช้างป่าทั้ง 2 ตัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ “ตุลา” ให้ดูแลรักษาและเฝ้าระวังอาการตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย